Headlines

ม.เชียงใหม่ ชนะการประกวดเทคนิคการใช้ MRI

ทีมศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน “The effect of 4D-PCA compared with CE-MRAon patients with congenital heart disease” ที่นำเสนอผลงานเกี่ยวกับการตรวจหัวใจด้วยเครื่อง MRI โดยไม่ต้องสารเพิ่มความเปรียบต่างในเนื้อเยื่อ (Contrast Media) เป็นผู้ชนะเลิศคว้าเงินรางวัลสูงสุด 30,000 บาท “Philips Ambition Cup 2024” การประกวดผลงานเทคนิคการใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ของนักรังสีเทคนิคจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้เครื่องมือทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปต่อยอดและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ณ โรงแรมอีสติน พญาไท กรุงเทพฯ

นายปธานิน จินดารุ่งเรืองกุล (ซ้าย) และนายจิณณวัตร รัตนัง (ขวา) นักรังสีการแพทย์ กล่าวว่า “เราเลือกหัวข้อวิจัยนี้ในการส่งเข้าประกวด เป็นเพราะว่าเราพบความท้าทายในการตรวจหัวใจด้วยเครื่อง MRI ในเด็ก ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวต่อสารเพิ่มความเปรียบต่างในเนื้อเยื่อจำนวนมาก การตรวจด้วยเครื่อง MRI จำเป็นต้องฉีดสารนี้เพื่อให้มองเห็นลักษณะทางกายวิภาคของหัวใจ แต่หากเราใช้เทคนิค 4D-PCA เราก็ไม่จำเป็นต้องฉีดสารดังกล่าว แต่ยังคงมองเห็นลักษณะของหัวใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสามารถวิเคราะห์รอยโรคได้ อีกทั้งยังลดเวลาในสแกนลงได้ถึง 30% โดยเคสที่นำมาเก็บข้อมูลงานชิ้นนี้คือผู้ป่วยเด็กซึ่งให้ความร่วมมือในการตรวจได้เป็นอย่างดี และสามารถฝึกกลั้นหายใจได้ก่อนเข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ผู้ป่วยเด็กเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพ้สารดังกล่าว และหากต้องตรวจติดตามอาการเป็นประจำ อาจเกิดการสะสมในร่างกายซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพได้ในอนาคตโดยปกติแล้วการทำงานกับผู้ป่วยเด็กจะมีความท้าทายมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อยู่แล้วด้วยปัจจัยของวัยการควบคุมสมาธิและภาวะอารมณ์ที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ทั้งทีมนักรังสีเทคนิคและผู้ปกครองเองต้องมีวิธีการดึงดูดความสนใจของผู้ป่วยเด็กเพื่อให้ร่วมมือในระหว่างการตรวจจนสิ้นสุดกระบวนการ”

“เราได้เข้าร่วมส่งผลงานปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งเราสองคนรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ยอมรับว่ารู้สึกกดดันมากในช่วงแรกแต่เพราะต้องการมาหาประสบการณ์และอยากนำข้อมูลดีๆ ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ในวงการมาแชร์ ประกอบกับเราได้อาจารย์แพทย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น เรารู้สึกว่าโครงการฯนี้ เป็นโครงการที่ดีต่อวงการรังสีเทคนิคอย่างแท้จริง เพราะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และปัญหาที่พบในการทำงานจริง รวมถึงการหาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรงเราก็หวังว่าผลงานวิจัยของเราจะเป็นประโยชน์ต่อนักรังสีท่านอื่นๆ ในการนำเครื่อง MRI ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ยะราช อาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมมีความสามารถโดดเด่นและนำเสนอเทคนิคการใช้เครื่อง MRI ที่แตกต่างกัน โดยเกณฑ์การตัดสินพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ เนื้อหาการวิจัยและเทคนิคการประยุกต์ใช้เครื่อง MRI ซึ่งมีสัดส่วนคะแนนสูงสุด, รูปแบบการนำเสนอ, ความคิดสร้างสรรค์ และ ความเป็นไปได้ในการนำไปต่อยอดใช้จริงโดยทีมที่ชนะเลิศในปีนี้ถือเป็นทีมของน้องใหม่ที่มีความโดดเด่นด้วยการนำเสนอสถิติที่ครบถ้วนและจำนวนเคสที่ร่วมวิจัยที่มากพอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของเทคนิคที่นำเสนอ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศูนย์ MRI อื่นๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้จริงในอนาคต”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *