ProPak Asia 2025 ที่จะถูกจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2568 ได้ถูกยกระดับให้มีความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางธุรกิจ การเจรจาการค้า การลงทุน การสร้างพันธมิตรธุรกิจ รวมถึงประตูเชื่อมต่ออุตสาหกรรมแปรรูปและผลิตอาหารของภูมิภาค ในการนำเสนอ ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีล่าสุดของโลกสู่ผู้ประกอบการ พร้อมแนวคิด “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในอุตสาหกรรมการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Carbon-Neutral Pathways to Sustainable Processing and Packaging Ecosystem) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางหรือกลยุทธ์ที่มุ่งลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ในทุกกระบวนการของการผลิต การแปรรูปและการบรรจุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนในทุกส่วน

นายสรรชาย นุ่มบุญนํา ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยในปีที่ผ่านมา (ปี 2567)เป็นปีที่อุตสาหกรรมอาหารไทยมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ ที่ล่าสุดเผยว่าการส่งออกไทยปี 2567 สามารถส่งออกได้ 300,529.5 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีการขยายตัวถึง 5.4% โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6.0% โดยสินค้าเกษตรขยายตัว 10.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 6.7% ส่วนปี 2568 นั้น ภาพรวมของสถานการณ์โลกยังอยู่บนความไม่แน่นอน จากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก แต่อย่างไรก็ตามยังมีสัญญาณเชิงบวกของปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของ GDP โลกที่คาดว่าจะโตประมาณ 2.7% เศรษฐกิจในอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงและความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อเป็นวัตถุดิบและบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้ากลุ่มอาหารที่ขยายตัวได้ดีอาทิ ไก่สดแช่เย็นและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสำเร็จรูปผลไม้กระป๋องและแปรรูป ฯลฯ


อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต โดยใช้งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มายกระดับสินค้าให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยที่สูงขึ้น เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและพัฒนาอาหารแห่งอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ รวมถึงจำเป็นต้องมีกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาสู่เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(BCG) ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่เดินหน้าหาตลาดการค้าใหม่ๆ และทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)กับประเทศและเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดได้มีการทำข้อตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา (EFTA) เป็นผลสำเร็จและยังมีการเร่งเจรจา FTA อีกหลายฉบับ อาทิ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) / ไทย-เกาหลีใต้ / ไทย-ภูฏาน / ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) / อาเซียน – แคนาดา โดยทั้งหมดจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย
สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.propakasia.com