“After Tang Chang” บทสนทนากับ “จ่าง แซ่ตั้ง”

“วิชิต นงนวล” ศิลปินผู้หลงใหลและศรัทธาในผลงานของ “จ่าง แซ่ตั้ง” ศิลปินระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ วัยเรียนเรื่อยมาจนเป็นศิลปินอาชีพ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะที่เสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับ “จ่าง” ผ่าน 3 แนวทางในนิทรรศการ “The Grandmaster: After Tang Chang” ณ  ละลานตา ไฟน์อาร์ต ระหว่างวันที่ 11 มกราคม ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2568

แนวทางแรก คือการลอกเลียนผลงานของ จ่าง สังเกต สัมผัสและศึกษากระบวนการทำงาน วิถีปฏิบัติ ตลอดจนประเภทของสีและวัสดุที่ใช้ จากการบอกเล่าของทายาทโดยตรง จนสามารถเก็บรายละเอียดของอารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณแบบจ่างออกมาให้เราได้สัมผัสอย่างครบถ้วน ราวกับเป็นการพลิกฟื้นคืนชีวิตจ่างให้หวนกลับมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ขึ้นมา

แนวทางที่สอง แสดงให้เห็นถึงรูปแบบและเทคนิคการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการจำลองหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของจ่าง เช่น ตัดมือกวี ควักตาจิตรกร (1973) ศิลปินได้ตีความผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างขึ้นจากกระบวนการถักทอขนสัตว์ แทนการใช้สีสันบนผืนผ้าใบ ถึงแม้เส้นใยสิ่งทออันนุ่มนวลละมุนละไม ผู้ชมก็ยังคงสัมผัสถึงปณิธานอันแรงกล้าในการประท้วงต่อต้านการล่วงละเมิดและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่จ่างส่งผ่านภาพนี้ออกมาได้อยู่ดี การถักทอเส้นใยธรรมชาติอันนุ่มนวลอ่อนโยนให้กลายเป็นภาพของครอบครัวแซ่ตั้งเปรียบเสมือนสายใยแห่งความผูกพันของสายสัมพันธ์ของครอบครัวและเหล่าบรรดาทายาทรุ่นหลัง

แนวทางที่สาม คือการสร้างบทสนทนาด้วยการจำลองรูปกายของจ่างและเหล่าบรรดาทายาทของเขาขึ้นมาใหม่ ในรูปของประติมากรรมสามมิติ ด้วยเทคนิคการถักทอขนสัตว์ หรือการทำงานเครื่องเคลือบดินเผาด้วยกระบวนการที่ล้อเลียนภูมิปัญญาโบราณของญี่ปุ่น ในการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักเสียหายอย่าง คินสึงิ (Kintsugi) สะท้อนวิถีทางและปรัชญาการทำงานของจ่าง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาและปรัชญาแบบตะวันออก มากกว่าจะได้รับอิทธิพลจากวิถีทางศิลปะแบบตะวันตก วิชิตยังแสดงออกถึงวิถีคิดแบบตะวันออกของจ่างผ่านการลอกเลียนแบบรูปเล่มหนังสือวรรณกรรมต้องห้ามในยุคสมัยหนึ่ง “อา Q”

นอกจากนี้ ศิลปินยังถ่ายทอดความหลงใหลศรัทธาในตัวของ จ่าง แซ่ตั้ง ผ่านผลงานศิลปวัตถุที่กินได้ในรูปของ ช็อกโกแลต การลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *