“Sinking and the Paradox of Staying Afloat” นิทรรศการที่ถือกำเนิดขึ้นโดย 7 ศิลปิน อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, LE Brothers และ Gemini Kim, Khvay Samnang, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ และ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ จากแรงผลักดันในการดำรงชีวิตอยู่ กระตุ้นให้เกิดการขบคิด ความขัดแย้งที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน นั่นคือ สภาวะที่ย้อนแย้งระหว่างการอนุรักษ์และการทำลายธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่สื่อถึงกระบวนการจมดิ่งลงสู่ความเสื่อมโทรม “Sinking” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อระดับน้ำทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกอึดอัดในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงของเราด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนการสิ้นชีวิตของตัวเราเอง ในทางตรงกันข้าม “Staying Afloat” แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและรักษาสมดุลท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างความตายและการเอาชีวิตรอด จึงเกิดเป็นปริศนาขึ้น เราจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับการทำลายล้างได้หรือไม่? เราจะรอช้าไปอีกนานเท่าใดกว่าจะสายเกินไป? ณ 333 Gallery, Warehouse 30 ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น. – 18.00 น. ปิดวันจันทร์
นิทรรศการมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็น ได้แก่ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อน้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต และความจำเป็นที่จะต้องหวนคืนสู่ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พร้อมๆ กับการตระหนักว่าเรากำลังสร้างธรรมชาติเทียมที่ทำร้ายตัวเราเองเพื่อโต้ตอบกับความรุนแรงที่เรากำลังก่อขึ้น
ในมิติทางภูมิศาสตร์ นิทรรศการมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรและแหล่งน้ำ รวมถึงแม่น้ำสายสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงและสาขาแม่น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนในอนาคตของประเทศ แต่รูปแบบระดับน้ำและฤดูกาลที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลัก ต้องการน้ำในปริมาณที่คาดการณ์ได้เพื่อการเจริญเติบโต ความไม่สมดุลของน้ำจะส่งผลต่อการคงอยู่ของข้าวและพืชผลอื่นๆ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กรุงเทพมหานครและพระนครศรีอยุธยา ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองและบังคับให้ผู้คนต้องดำเนินชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างไป ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งสภาพอากาศที่รุนแรง ส่งผลต่อพืชพรรณและวงจรการเจริญเติบโต ปัญหาสุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ และความมุ่งมั่นในการรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานไม่เพียงแต่เป็นผู้สังเกตการณ์สภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นนักมานุษยวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ประกอบพิธีกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบที่มีชีวิต ผลงานของพวกเขาที่หลากหลาย ตั้งแต่วิดีโอและสื่อผสม จิตรกรรมและประติมากรรมที่สร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการจัดวางที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น ล้วนอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อกระตุ้นเตือนให้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่มีต่อโลกใบนี้