“พระจักราวตาร” การแสดงโขนกับเทคนิคสมัยใหม่

รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” จัดขึ้นโดยการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จะสนุกและตื่นตาตื่นใจมากขึ้น พร้อมเทคนิคพิเศษ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม 2567

ศิลปินแห่งชาติ ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ประพันธ์บท กล่าวว่า “ในการจัดทำบทครั้งนี้ เราเห็นว่าเป็นปีสำคัญของประเทศชาติเรา ปีมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนม์อายุ 72 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชนี พระพันปีหลวง 92 พรรษา เพราะฉะนั้นการคัดเลือกตอนที่จะนำมาแสดง เราจึงคัดเลือกตอนที่เกี่ยวพันเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติ์ ก็เลยเลือกตอน พระจักราวตาร ซึ่งหมายถึงพระนารายณ์ ที่มีความเกี่ยวพันกับพระราชวงศ์จักรี เพราะฉะนั้นเราก็เลยสร้างเรื่องต่างๆ ตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เอามาเป็นหลักแต่ว่าเราพยายามที่จะเรียบเรียงให้อยู่ในกรอบในระยะเวลาที่กำหนดก็คือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงเศษๆ เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างจะยากมาก เราก็เลือกเฉพาะตอนที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับพระราม

“เราจะเริ่มพระรามตอนเด็ก มันอาจจะไม่สนุก ได้ปรึกษากับท่านศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สุดสาคร ก็เลยว่าให้ทำตั้งแต่อัญเชิญพระนารายณ์ ตั้งแต่ฉากแรก พระนารายณ์บรรทมศิลป์ พระอินทร์และขบวนเทวดามาทูลเชิญให้เสด็จอวตารมาเป็นพระราม ก็จะเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่สวยมาก ในฉากที่ 2 เป็นเรื่องกฤษดาภินิหารของพระนารายณ์ หรือ พระรามตอนเด็ก มีนักแสดงพระรามพระลักษณ์ตอนเด็ก ในตอน ปราบกากนาสูร ที่พระรามสามารถกำราบอธรรมได้ จากนั้นเราก็พยายามที่จะตัดต่อเรื่องให้มันสนุกสนาน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องผูกเรื่องให้มีปมก็คือ ตอนที่นางสำมนักขามาทูลฟ้องทศกัณฐ์ว่าโดนตัดมือตัดเท้าเพราะว่าไปเกี้ยวพาราสีพระรามตอนอยู่ในป่า เป็นการยุยงก่อให้เกิดสงคราม และก็จะดำเนินเรื่องต่อไปตั้งแต่พระราม ทศกัณฐ์ให้ม้ารีดแปลงกายเป็นกวางทอง ในคราวนี้เราจะมีเทคนิคพิเศษของการแปลงกายเป็นกวางทอง เราไม่ใช้กวางทองตัวเดียว เราจะใช้กวางทองเป็นจุดต่างๆ ประมาณ 3-4 ตัว จะเห็นว่ามันเป็นการพัฒนารูปแบบการแสดง

“เมื่อพระรามตามกวางแล้ว ทศกัณฐ์ก็แปลงเป็นฤาษี ที่เราเรียกว่า สุธรรมฤาษี หรือฤาษีแดง เพราะมีกายสีแดง เราก็จะพัฒนารูปแบบย้อนกลับไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือฤาษีตนนี้ต้องใส่หัวเพราะว่าเราไปค้นคว้าที่พิพิธภัณท์สถานแห่งชาติ ยังมีศรีษะฤาษีที่เราเรียกว่า พระสุธรรมฤาษี เราได้เอามาเป็นตัวอย่างใช้ในการแสดงในครั้งนี้ เพียงแต่ว่าเราปรับการแต่งกาย คือการแต่งกายท่อนล่างให้เป็นรูปแบบของกรมมโหรสพในรัชกาลที่ 6 กับการใส่หัว อันนี้เราผนวกให้เห็นถึงพัฒนาการของเรา จากนั้นเมื่อทศกัณฐ์ลักสีดาไปได้แล้วและเจอนกสดายุ ผูกเรื่องให้ค่อนข้างสนุกสนานโดยใช้ระยะเวลาไม่ยาวมาก จนในที่สุดพระรามก็ได้หนุมานกับพวกไพร่พลวานรยกทัพไปรบกับทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ตอนนี้ขาดเศียรขาดกรเป็นรบกันท้ายๆ จากนั้น เราก็สมมุติให้ทศกัณฐ์แพ้แต่ไม่ให้ตาย พระรามก็คืนนคร อันนี้เป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ ผมได้แต่งบทในตอนนี้ขึ้นมา เหมือนกับข้าราชบริพารในฝ่ายอโยธยาร่วมกันร้องรำเฉลิมฉลอง มีเทวดานางฟ้ามาร่วมแซ่ซ้องด้วย”

“พระจักราวตาร” จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายาให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญพระนารายณ์จุติลงมาเป็นพระรามและพระลักษมีลงมาเป็นนางสีดาปฐมเหตุแห่งการต่อสู้ปราบอธรรมคือทศกัณฐ์และพระญาติวงศ์ จากนั้นได้ดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวาง แล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่าง กองทัพพระรามและทศกัณฐ์

ในวันแถลงข่าว ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดแสดงตอน “กฤษฎาภินิหารพระรามา” พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม ได้แสดงกฤษฎาภินิหารในการกำราบปราบหมู่มาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นที่ปรากฏชัดครั้งหนึ่งทศกัณฐ์มีความริษยาต่อพวกฤษีนักบวช จึงใช้ให้นางกากนาสูร ญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นยายให้หาบริวารกามารบกวนเหล่าฤษีที่บำเพ็ญความเพียร พระวศิษฐ์และพระสวามิตร พระอาจารย์ของเหล่าพระกุมารของท้าวทศรถ ได้ไปเชิญให้พระกุมาร คือพระรามและพระลักษณ์ ไปปราบนางกากนาสูร พระกุมารทั้งสองได้แสดงกฤษฎาภินิหาร เข้าต่อสู้และแผลงศรสังหารนางกากนาสูรและบริวารกาได้สำเร็จ

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เล่าว่า “ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โขนเป็นศิลปะของประเทศไทย แต่ความนิยมในสังคมน้อยลง คนไม่ชอบดูเพราะชวนให้หลับ สมเด็จพระนางเจ้า และ พระขนิษฐา ทรงเห็นว่าถ้าไม่สนับสนุนไม่มีการแสดง วันหนึ่งจะถดถอยหายไป เพราะว่าในช่วงเวลานั้น การแสดงจากต่างประเทศหรือในประเทศมันเร็วๆ ตามยุคสมัย ไม่ชวนให้หลับ ความจริงกรมศิลปากรมีโขนอยู่แล้ว มีวิทยาลัยนาถศิลป์ มีคนที่เล่าเรียนทางนี้อยู่แล้ว มีนักแสดงแต่ไม่มีคนดู ทั้งสองพระองค์ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาในปี 2547 ทรงมอบหมายให้อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคนหาเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ ที่จะมาร่วมกันคิด และศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเราในเรื่องที่เกี่ยวกับโขน แล้วก็มาช่วยทำโขนให้สนุกสนานให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน

“ความจริงโขนก็เล่นอยู่เรื่องเดียวคือ รามเกียรติ์ ซึ่งมีข้อคิด มีเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ความรักชาติ ความสามัคคี ประกอบไปด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ปีนี้เทคนิคคงมากขึ้น ทำเรื่อยมา สร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องพัสตราภรณ์ และฉาก เพราะว่าจะทำให้ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น เรามีช่างฝีมือมากมายในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เรามีศิลปินแห่งชาติทั้งหลายให้มาช่วยกันออกเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 และมาเริ่มแสดง 2550 มันได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้จนลูกเล็กเด็กแดงชอบดูกันมาก หนุมานเป็นพระเอกเลย และสิ่งที่ได้ออกมาก็คือ เราเห็นเด็กๆ มาให้ความสนใจกับการแสดงโขนในช่วงอายุที่เป็นเยาวชนและวัยรุ่น ไม่ใช่มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้สูงวัยอีกต่อไป ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ นอกจากนี้แล้ว คนที่มาดูรามเกียรติ์ตอนต่างๆ ทั้งหมด 17 ตอน คนไปหารามเกียรติ์อ่านมากขึ้น คนไปเล่าเรียนนาฏศิลป์มากขึ้น ปีหนึ่งเราก็เอาเด็กมาเล่นในโขนของเรา เช่นมัจฉานุ ก็สมกับวัย เพราะฉะนั้นเป็นการกระตุ้น เป็นการทำให้โขนเป็นที่นิยมกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

“จนในปี 2562 เราก็สามารถผลักดันให้โขน เข้าไปจดทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก ซึ่งตอนนี้เข้าไปสู่ระดับโลกแล้ว นอกจากเราได้ทำสำเร็จสมดังพระราชปณิทานของทั้งสองพระองค์แล้ว ในเรื่องให้คนนิยม ทำโขนไม่ให้หลับ ทำโขนให้เป็นที่นิยมในสังคมไทยในปัจจุบัน เรายังได้สร้างช่างฝีมืออีกมากมาย ถ้าเรามองฉากๆ หนึ่งบนเวที เราดูที่เครื่องแต่งกายโขนไม่ใช่ของง่าย ผ้าที่นุ่งทอด้วยสมาชิกศิลปาชีพทางภาคใต้ และสามารถฟื้นฟูผ้ายกของจังหวัดนครศรีธรรมราชให้กลับคืนมาได้และนำมาใช้ในการแสดงโขน การปักเครื่องแต่งกายโขนในชุดต่างๆ เราปักอยู่ทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง กาฬสินธุ์ อ่างทอง อยุธยา ทำเรื่องเครื่องแต่งกายโขน ช่างแต่งตัวของโขนก็มีความสำคัญเพราะเขาต้องเย็บแต่ละชุดให้เข้ากับตัวผู้แสดงแต่ละคน นักร้องนักดนตรีก็ต้องมี นักพากย์ก็ต้องมี แต่ก่อนนี้นักพากย์โขนมีแต่ผู้ที่มีอายุ ต่อมาเริ่มมีผู้มีอายุน้อยเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้เครื่องประดับศิราภรณ์ต่างๆ เราสามารถผลิตขึ้นมาได้ เรียกว่าทั้งโรงเป็นงานฝีมือทั้งสิ้น และก็ทำโดยคนไทย อย่างฉาก เราได้อาจารย์สุดสาครเป็นผู้ออกแบบฉาก”

บัตรราคา 2,000, 1,800, 1,000, 800 และ 600 บาท รวมถึง 180 บาทสำหรับนักเรียน จำหน่ายที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา 0-2262-3456, www.thaiticketmajor.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *