“ดอยบอย” สะท้อนการถูกอุ้มเพียงเพราะใช้เสรีภาพ

“ดอยบอย” ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เข้าไปพัวพันกับการอุ้มหายนักกิจกรรม รวมทั้งสะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พนักงานบริการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมกับใครเลย ได้ถูกนำมาฉายในกิจกรรม ได้จัดกิจกรรม “Movies That Matter: ดูหนัง-ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน” โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน เนื่องในวันผู้สูญหายสากล

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับ เจ้าของผลงานสารคดีสะท้อนสังคม อาทิ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” “สายน้ำติดเชื้อ” และ “ดินไร้แดน” เล่าว่า “มันต่อยอดมาจากเรื่องที่แล้ว คือดินไร้แดน เป็นเรื่องชาติพันธุ์ ที่ตอนไปเชียงใหม่ผมสงสัยว่าทำไมคนไทใหญ่ถึงมาอยู่กันเยอะ ผมไปเชียงใหม่บ่อยมาก แต่ไม่เคยสังเกตเห็นการมีอยู่ของพวกเขา เหมือนเป็นมนุษย์ล่องหนอยู่ในประเทศเราด้วย เรื่องนี้เราใช้เวลาเขียนบท 5 – 6 ปี แล้วในระหว่างที่ผมพัฒนาบทอยู่ มันก็มีเหตุการณ์ของวันเฉลิมเกิดขึ้นด้วย จริงๆ ผมก็เป็นเพื่อนกับวันเฉลิมเหมือนกัน ก็ตกใจแล้วก็เสียใจมากๆ แล้วก็อยากเล่าเรื่องนี้ใส่ลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

“การลุกฮือของเด็กรุ่นใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างขึ้น พูดกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ทำให้ผมคิดว่า เวลาทำหนังหรืองานศิลปะมันควรจะพูดกันตรงไปตรงมาบ้าง ไม่ต้องใช้สัญลักษณ์ ไม่ต้องตีความอะไรกันมากมายขนาดนั้น แล้วผมก็รู้สึกว่า พอมันออกฉายไป ก็ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและเกิดการถกเถียงมากมายในโลกออนไลน์ แล้วก็ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ออกมาหลังจากนั้น ก็พยายามเล่า วิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบตรงไปตรงมาเพิ่มมากขึ้นในทางการตลาด ผู้คนเองก็ชอบหนังที่มันมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา มันแซ่บกว่า”

อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงนำในบท “ศร” หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ผมก็รู้สึกว่าผมจะหยุดแสดงแล้ว แต่พอผมได้อ่านบทเรื่องนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เราอยากจะถ่ายทอดเรื่องนี้ ตัวละครนี้ ประเด็นเรื่องการอุ้มหาย เรื่องของระบบที่มันไม่ยุติธรรม เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องของสิทธิและเสียงของมนุษย์ มันคือประเด็นที่ผมสนใจ แล้วผมก็ร่วมต่อสู้มาตลอดตั้งแต่ที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการประท้วง เรารู้สึกว่าเราใช้เสียงในที่ของเรามาโดยตลอด และในฐานะนักแสดง จะได้มาถ่ายทอดเรื่องราวเล่านี้ด้วย กับผู้กำกับที่มีความกล้าที่จะพูดเรื่องนี้สักที อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอันนี้ผมเลยรู้สึกว่า ผมต้องได้บทนี้ มันก็เลยเป็นจุดที่แบบว่า เอาวะ ต้องลุยให้ได้ ก็พร้อมอุทิศตัวเองทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็นศรในดอยบอย

“ผมก็ทำอาชีพตัวเองอยู่ แล้วก็แค่ถ่ายทอดเรื่องราวที่มันก็มีอยู่จริงในฐานะนักแสดง ทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด การที่คุณไม่ให้พูด นั่นแปลว่าคุณกำลังใช้อำนาจของคุณในการกดทับให้เสียงของคนที่อยากจะพูดมันไม่มีเสียง มันยิ่งกลายเป็นว่า ยิ่งคุณกด ยิ่งคุณปิด ประชาชนเขายิ่งอยากพูด สิ่งที่มันเป็นอดีตมันก็เป็นอดีต ถ้าคุณไม่ปรับตัวเข้าหาปัจจุบัน คุณก็จะค่อยๆ ล่มสลายลงไป เหมือนประโยคที่ตัวละครวุฒิบอก ระบบที่คุณรับใช้ วันหนึ่งมันก็จะหล่นลงมาทับคุณเอง ถ้าคุณไม่เรียนรู้จากมัน เพราะว่าสังคม คน กาลเวลา มันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าคุณไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนตัวตาม ทุกอย่างมันก็จะกลับไปที่ตัวคุณ ที่จะอยู่ยากขึ้น”

“ทำไมคนที่อุ้มต้าร์ไม่ใจดีแบบในหนัง” คำพูดแรกของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2563

สิตานัน กล่าวว่า “ตั้งแต่วันแรกที่น้องหายไป แล้วเราออกมาเรียกร้อง คนรอบข้างพูดว่าระวังจะเจอเหมือนต้าร์ ไม่กลัวเหรอ ก็ทบทวนนานเหมือนกัน เราก็มานั่งคิดว่ามีบุคคลถูกอุ้มหายนอกราชอาณาจักรไทย 9 คน แล้วไม่มีการออกมาเรียกร้อง มันก็เลยเกิดเคสวันเฉลิมขึ้น เราก็เลยไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใครอีก เราก็เลยตัดสินใจว่าเป็นไงเป็นกัน เพราะนั่นก็คือน้องเรา คนอย่างต้าร์มันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้าร์มันยอมสละ มันอยากเห็นประเทศไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา นั่นคือต้าร์ค่ะ มันเป็นสิ่งที่เรายอมทุ่มทั้งชีวิตเพื่อออกมาเรียกร้องให้น้อง ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าความยุติธรรมมันคืออะไร สำหรับเรา แต่เสียดายไหมเวลา 4 ปี เสียอะไรไปเยอะมาก ไม่เสียดาย เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราพูดออกไป จะมีคนเกรงและไม่ทำกับใครอีก แล้วเราก็ยังไม่พอแค่นี้ การทำงานของเรา ถึงแม้ว่า 4 ปีมันจะนาน แต่เราอยากให้คนที่สั่งได้รับผลกรรม ไม่ใช่ลอยนวลพ้นผิด” สิตานันสรุป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *