เนื่องในวันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day) มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguard Kids Foundation) ร่วมกับ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ PASAYA และ สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม “We Are the World, We Are the Children” เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน ผ่านการเสวนา “ปัญหาทางมนุษยธรรมกับเยาวชนในบริบาทสังคมไทย” และผลงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการ ความคิด และความฝันของเด็กๆ พร้อมชิงรางวัลจาก Safeguard Kids Awards 2024
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการขับขานบทกวีร้อยแก้ว “หิ่งห้อยวับวาว ไม่อับแสงยามเดือนดับ” โดยคุณรัตนพร และ คุณพิมพ์รัตน์ เตชะรัชต์กิจ ประกอบเสียงก้องกันวานของขันทิเบต และลำนำบทกวีประกอบฟลุตเรื่อง “เมียวดีกำสรวล” โดยคุณอานันท์ และ คุณนัช หาญพาณิชย์พันธ์
คุณชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า ภาพชาวต่างชาติเดินจูงมือเด็กเข้าโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่คนไทยรู้สึกคุ้นเคยหรือพฤติกรรมที่เรารับได้ โดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเลยทั้งที่ความยากจนไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการค้ามนุษย์เสมอไปปัญหาความยากจนต้องได้รับการแก้ไขในเชิงนโยบายจากรัฐบาลที่สำคัญครอบครัวต้องร่วมกันดูแลเอาใจใส่ลูกหลานบางครั้งอิสรภาพต้องมาพร้อมกรอบของเสรีภาพ รวมไปถึงการให้ความรู้และการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ต้องพิถีพิถันอย่างมาก
“เดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียเข้าถึงเด็ก ๆ ได้ง่ายมาก เราจึงต้องให้คำแนะนำในการเสพย์สื่อหรือชักชวนให้เขาค้นหาสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจการวาดภาพก็เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เราเข้าถึงมุมมองของเด็ก ๆ มากขึ้น การจัดงานในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนSocial Awarenessให้เราหันกลับมาเข้าใจเด็ก ๆ ผ่านการค้นหาความหมายที่อยู่ในภาพของพวกเขา และช่วยให้สังคมตระหนักว่าเราจะไม่ทนต่อปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อเราลุกขึ้นมาร่วมกันต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กอย่างจริงจังมันจะมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในที่สุด”
คุณสักการะ มหาโพธิ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กล่าวว่า “เราอยากให้สังคมตื่นตัวเรื่องของปัญหาเด็กมากขึ้น ปัจจุบัน โรงแรมทำงานกับเด็ก ๆ และเห็นถึงความไม่ปลอดภัยในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ รวมถึงการล่อลวงด้วยรูปแบบแปลกใหม่ อย่างการให้รางวัล การให้ความชื่นชม หรือการหลอกล่อด้วยเสียง ศิลปะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็ก ๆ กลับมาทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และเป็นตัวสะท้อนเสียงจากภายในของเด็กว่าลึก ๆ แล้วเขาคิดอะไรอยู่ ผลงานที่ส่งเข้ามาก็มาจากเด็ก ๆ ในโรงเรียนในหลายเขตของกรุงเทพมหานคร มีผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด 28 ชิ้นที่เข้ารอบ เพื่อเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ได้มีเวทีแสดงออกและกล้าที่จะแสดงความสามารถทางศิลปะมากขึ้น”