นิทรรศการ “200 Years Journey Through Thai Modern Art History” ร้อยเรียงเรื่องราวกว่า 2 ศตวรรษของประวัติศาสตร์ศิลป์จากขรัวอินโข่ง (ราวรัชกาลที่ 4) ถึงปัจจุบัน คัดสรรงานศิลปะระดับประเทศที่หาชมยากกว่า 100 ชิ้นจากคอลเลกชันของ คุณกรกมล และ คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ นักสะลมงานศิลปะและผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center บริษัทประมูลศิลปะอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่รวบรวมผลงานศิลปะอันทรงคุณค่ามานับสิบปี ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณะ” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปะ (หอศิลปเจ้าฟ้า) ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่ง-31 สิงหาคม 2567 เวลา 9.00-16.00 น.(ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)
นิทรรศการเล่าผ่านศิลปะสยามในยุคล่าอาณานิคม (Colonial Era) เคลื่อนสู่ปฐมบทของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Modern Art) จากผลงานจิตรกรรมล้ำค่าของ “ขรัวอินโข่ง” ฝีแปรงและลายเส้นอันเปี่ยมพลังของ “ถวัลย์ ดัชนี” สู่งานศิลป์ของศิลปินยุคใหม่ “มอลลี่-นิสา ศรีคำดี” (Crybaby) ตลอดจนงานจิตรกรรมและประติมากรรมอันประณีตงดงามของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย
จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง
พระสงฆ์แห่งวัดราษฎร์บูรณะหรือ “วัดเลียบ” ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 บวชเณรตั้งแต่เด็กจนอายุมากก็ยังไม่ยอมบวชพระจึงถูกเรียกว่า “เณรโค่ง” (เณรตัวใหญ่) ต่อมาคำว่า ‘โค่ง’ เพี้ยนเป็น ‘โข่ง’ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เมื่อบวชเป็นพระจึงถูกเรียกขานว่า “ขรัวอินโข่ง” (ขรัว หมายถึง พระที่มีพรรษาและความรู้มาก) ด้วยใกล้ชิดกับวัดมาตั้งแต่เด็กจึงสนใจงานศิลปะ ช่วงแรกขรัวอินโข่งฝึกฝนงานศิลปะไทยแบบประเพณีนิยม ที่ส่วนใหญ่ยึดแบบแผนดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา สืบเนื่องมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่เน้นความสมจริงตามธรรมชาติ ภาพจะดูแบนๆ ระบายด้วยสีเรียบๆ ไม่ใส่แสงเงา หากแต่ขรัวอินโข่งกลับเลือกใช้โทนสีทึมๆ ครึ้มๆ สร้างเป็นบรรยากาศ บรรจงวาดตัวละคร ตึกรามบ้านช่องเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด ยกเว้นเพียงธงประจำชาติสยามรูปช้างสีขาวบนพื้นแดงที่โบกปลิวดูเด่นเป็นสง่าอยู่บนเรือกลไฟที่แล่นสู้คลื่น ส่วนประกอบอื่นๆ ในภาพแทบจะไม่มีอะไรที่บ่งบอกความเป็นไทยเลย แล้วขรัวอินโข่งผู้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศนำแรงบันดาลใจมาจากไหน?งานจิตรกรรมชิ้นนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ภาพวิวสไตล์ตะวันตกดาดๆ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานอันบ่งชี้ว่า ณ ช่วงเวลานั้นศิลปินสยามได้ก้าวข้ามผ่านกรอบปฏิบัติอันเข้มงวดของศิลปะแบบไทย ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนหน้า ศิลปะไทยจึงไม่ย่ำอยู่กับที่เพราะมีศิลปินนามอุโฆษที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ขรัวอินโข่ง”
นารายณ์บรรทมสินธุ์
ผลงานจิตรกรรมของพระเทวาภินิมมิต (ฉายเทียมศิลปไชย) หนึ่งในช่างศิลป์คนสำคัญที่ได้ถวายงานแก่ราชสำนักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งยังเป็นพระอาจารย์ทางด้านศิลปะของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2477 เป็นภาพพระนารายณ์ขณะบรรทมมีพระพรหมผุดขึ้นมากลางพระนาภี (สะดือ) ด้านข้างปรากฎภาพพระแม่ลักษมี (พระชายา) ทั้งหมดประทับอยู่บนหลังอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร สะท้อนถึงการพัฒนารูปทรงของตัวละครในภาพที่แสดงถึงการเปิดรับหลักการศิลปะตามหลักวิชาของตะวันตก ทั้งในด้านหลักกายวิภาค การสร้างมิติตามหลักทัศนียวิทยาผสานกับการสร้างบรรยากาศในภาพตามแบบศิลปะตะวันตก ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงเป็นเสมือนหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของการผสมผสานอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเข้ากับรูปแบบของศิลปะไทยอย่างประณีต
Siamese Cupid
ผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่าและหาชมยากของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินที่มีชื่อเสียงของอิตาลี ซึ่งผลงานเป็นที่พอพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 จนรัฐบาลไทยเชิญมาทำงานให้ราชสำนักและได้เดินทางข้ามทะเลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านจิตรกรรม เครื่องเคลือบดินเผา ภาพวาดบนกระจกสี รวมถึงงานออกแบบศิลปกรรมเพื่อการตกแต่งสถาปัตยกรรม ผลงานชิ้นนี้สะท้อนการสร้างสัญลักษณ์เป็นภาพตัวแทนตัวละครเทวดาของฝรั่งและเทวดาของไทยมาผสมผสานอยู่ในภาพเดียวกัน สันนิษฐานว่าคินีสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประดับอาคาร อาจเป็นบริเวณเหนือซุ้มหน้าต่างหรือซุ้มประตู โดยในช่วงเวลาที่เขาพักนักอยู่ในสยาม นอกจากงานจิตรกรรมประดับโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วคินียังสร้างงานจิตรกรรมส่วนตัวเป็นภาพสีน้ำมันอีกหลายชิ้น
Girl With the Red Book
มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของประเทศไทย ได้สร้างสรรค์ภาพสีน้ำมันชื่อ “วัยรุ่น” ขึ้นมาราวทศวรรษ 2500 แสดงถึงภาพของหญิงสาววัยรุ่นในชุดสีขาวบริสุทธิ์สะอาดตา นอนอ่านหนังสือล้อไปกับแนวนอนของผืนผ้าใบ โลกของหญิงสาวเปิดออกอย่างสดใสร่าเริงเฉกเช่นหนังสือปกแดงในมือของเธอที่ถูกเปิดอ่าน ท่ามกลางดอกไม้และพืชพันธุ์ที่เบ่งบานรายล้อมมีเซียมเขียนภาพแบบทิ้งฝีแปรงพู่กันที่เขียนขยุกขยิกแสดงถึงกลีบของดอกไม้และใบไม้ ปรากฎกระจายไปทั่วภาพราวกับเส้นสกำลังเต้นระบำรายล้อมตัวหญิงสาวอย่างมีชีวิตชีวา การใช้สีที่กลมกลืนทำให้เรือนร่างของหญิงสาวและแมกไม้แทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน มีเพียงดวงตา เส้นผมที่ดำขลับ และหนังสือปกแดงเท่านั้นที่โดดเด่นเห็นชัดอย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะการวาดภาพที่งามเกินจริงในจิตรกรรมชิ้นนี้จะมีความคล้ายคลึงกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานประติมากรรมของมีเซียม
Despair Eclipse of Intellect
ผลงานไฮไลท์ขนาดใหญ่โตมโหฬารที่สุดจากยุคบุกเบิกที่หาชมยากที่สุดชิ้นนี้ถวัลย์ดัชนี ใช้สีดำระบายบนผืนผ้าใบขนาดท่วมหัวจนทั่วเพื่อรองพื้น จากนั้นจึงใช้เกรียงปาดสีน้ำมันเป็นปื้นหนาๆ ทับลงไปให้เกิดเป็นรูปทรงและแสง ภาพบรรยากาศอันวังเวงภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ถูกบดบังแสงจนมืดดำ มีไก่ยักษ์สองหัว หัวหนึ่งดวงตาเบิกโพลง ชูคอโก่งขันจนสุดเสียงแสดงถึงความตื่นรู้ ขณะที่อีกหัวกำลังจิกกัดผู้คนที่นอนปิดหูปิดตาเอาแขนก่ายหน้าผากอย่างหมดอาลัยตายอยาก สไตล์และสีสันที่ดูสากลมาก ทำให้ผลงานชิ้นนี้ถูกซื้อไปโดยมิสเตอร์เอเวอร์ผู้จัดการใหญ่ของสายการบิน KLM ประจำประเทศไทย ผู้บังคับบัญชาของ มากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นแอร์โฮสเตส ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน เธอผู้นี้เองที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตของถวัลย์ ดัชนี
พระสังข์ทองกับนางรจนา
จิตรกรรมของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ชิ้นนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2525 ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ เป็นภาพตัวละครที่แต่งองค์ทรงเครื่องสวมบทบาทพระสังข์ทองและนางรจนา ฉากหลังเป็นกระท่อมกลางป่า โครงสีของภาพอบอุ่นด้วยบรรยากาศของแสง เครื่องแต่งกายสอดคล้องตามแบบแผนของตัวละครผสมผสานกับรายละเอียดวิจิตรตามจินตนาการส่วนตัวของศิลปินผลงานจิตรกรรมของจักรพันธุ์คล้ายคลึงกับแนวทางการสร้างสรรค์ของศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 รูปร่างหน้าตาของตัวละครและฉากหลังผสมผสานความจริงตามหลักกายวิภาค และทัศนีวิทยาตามแบบตะวันตกกับความงามละมุนละไมในแบบเฉพาะตัวของศิลปิน
Memory House
ผลงาน Memory House ของ อเล็กซ์เฟส-พัชรพล แตงรื่น ศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติจากการออกแบบคาแร็กเตอร์เด็กหญิงสามตาในชุดกระต่าย ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากลูกสาว “น้องมาร์ดี” ตาที่สามสะท้อนมุมของศิลปินที่เฝ้ามองสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ลูกสาวกำลังจะเติบโตไปใช้ชีวิต ผลงานขนาดยักษ์ชิ้นนี้จัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2020 ที่ศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยบ้านไม้หลังเก่าที่มีประติมากรรมรูปน้องมาร์ดีขนาดใหญ่อัดแน่นอยู่ภายใน สะท้อนความทรงจำของบ้านวัยเด็กของ Alex Face ภายในบรรจุผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนถึงผลกระทบของผู้คนที่มีต่อแม่น้ำเจ้าพระยา
Cry Me A River
ปรากฏการณ์ Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี สร้างกระแสโด่งดังเป็นพลุแตกให้กับวงการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Popmart ผลักดันให้มอลลี่ก้าวสู่การเป็นศิลปิน Art Toy ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างสูงไปทั่วโลก กระทั่งนำมาซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทยของมอลลี่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ท่ามกลางผู้สนใจมาต่อคิวรอเข้าชมนิทรรศการยาวเหยียด ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ โดยโผล่พ้นน้ำขึ้นมาคือส่วนศีรษะ แขนทั้งสองข้าง และขาทั้งสองข้างเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นผลงานชิ้นหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของศิลปิน
ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณรและนักบวชในศาสนาอื่น และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
ติดตามได้ที่ 02 233 7939, 065 097 9909, https://www.facebook.com/TheNationalGalleryThailand, https://www.facebook.com/theartauctioncenter