“เด็กไม่ใช่ผู้นำของวันพรุ่งนี้ แต่เขาคือผู้นำของวันนี้”

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ UNICEF Thailand เปิดตัว “คู่มือการชุมนุมสาธารณะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและแนวทางการชุมนุมประท้วงที่ปลอดภัยและเสรีของยูนิเซฟ”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พูดถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเด็กว่า แอมเนสตี้อาจไม่ได้เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีความรู้หรือมีความสามารถพิเศษเรื่องเด็กโดยเฉพาะ แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าองค์กรอื่นๆ เพราะปัจจุบันมีงารณรงค์หลักที่ขับเคลื่อนมาอย่างเข้มแข็งชื่อว่าแคมเปญ “Protect the Protest” การปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง และได้แบ่งฉากชีวิตของเด็กเป็น 3 กลุ่ม

ก่อนการชุมนุม: “ความขัดแย้งกับครอบครัว” คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กก่อนที่พวกเขาเข้าไปร่วมชุมนุม โดยปิยนุชให้ข้อมูลว่าพบเด็กที่เข้าไปร่วมชุมนุมเกิดความขัดแย้งกับครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ชุมชน และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเธอได้ขอบคุณหลายองค์กรที่ทำงานกับแอมเนสตี้ เช่น Childline Thailand Foundation ซึ่งผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดคือเด็กที่ร่วมชุมนุมต้องเผชิญกับการไม่มีที่อยู่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบคุกคาม นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลเด็กจากทางโรงเรียนเกี่ยวกับครอบครัว

ระหว่างการชุมนุม: “การถูกปราบปรามในที่ชุมนุม” เด็กที่มาชุมนุมแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น เด็กที่มากับผู้ปกครอง เด็กที่มาขายของในที่ชุมนุมหรือที่เรียกว่า CIA และเด็กที่ตั้งใจมาร่วมชุมนุม โดยปิยนุชยกตัวอย่างการชุมนุมในเขตดินแดง กรุงเทพมหานครว่า นอกจากพบการใช้กระสุนยาง น้ำ และแก๊สน้ำตา ตั้งแต่การชุมนุมยังไม่เริ่มต้นเพื่อจับกุมเด็กแล้ว ยังพบว่ามีการใช้เคเบิ้ลไทร์เพื่อรัดมือเด็กไพล่หลังตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม และต้องอยู่ในพื้นที่กับผู้ใหญ่โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กและสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“ปัจจุบันแอมเนสตี้ ประเทศไทยมีข้อมูลว่า เด็กจำนวน 286 คนถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ยกตัวอย่างว่า เด็กอายุ 10 ขวบ มีหินในกระเป๋า ตั้งใจที่จะมาชุมนุมประท้วง อยากให้สังคมมองว่าการที่เด็กอายุเพียงเท่านี้ตั้งใจจะมาสะท้อนอะไรกับสังคมไทย เราผ่านสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่มี LGBTQ ที่โดนคดีมาตรา 112 ที่โดนตั้งคำถามเรื่องเพศจนทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ และในยุคแรกเริ่มที่มีกลุ่มนักเรียนเลว จำได้ว่าบุ้งเป็นกลุ่มนักเรียนเลว พาน้องๆ มาคุยกับว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่สามารถคุ้มครองน้องๆ ได้เต็มที่ อยากให้ทางการไทยตระหนักถึงเรื่องนี้เกี่ยวกับสิทธิเด็กว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย”

หลังการชุมนุม: “การทำคู่มือให้ประสบความสำเร็จต้องเปลี่ยนทัศนคติคน” สำหรับเรื่องเด็กในที่ชุมนุม ปิยนุชบอกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญมากขึ้นโดยต้องมองว่า “เด็กคือหัวใจของสิ่งนี้” ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ทำงานกับหลายองค์กร ยูนิเซฟคือหนึ่งในนั้น เธอยกตัวอย่างในช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ว่าการชุมนุมที่เกียกกายได้ทำงานร่วมกับองค์กรสิทธิเด็กหลายแห่ง มีการแจกสายรัดข้อมือกับเด็กที่ร่วมชุมนุม แต่หลังจากนั้นก็ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ยังปราบปรามและใช้กำลัง มีการฉีดน้ำ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนทัศนคติสำคัญต่อเรื่องสิทธิเด็ก หลายปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กถูกดำเนินคดีผ่านกฎหมายควบคุมการชุมนุม และยังพบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งถูกใช้สปายแวร์คุกคามชีวิต ซึ่งในรายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง” ของแอมเนสตี้พบว่ามีเด็ก 4 คนถูกโจมตีและถูกคุกคามในโลกออนไลน์ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กในระยะยาว

ปิยนุช ยกตัวอย่างชีวิตเด็กที่กล้าใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบผ่านข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่ามีเด็กอย่างน้อย 19 คนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการขอข้อมูลจนส่งผลกระทบกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เธอยกตัวอย่างกรณีเยาวชนคนหนึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ มีการโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แต่หลังจากนั้นชีวิตเขาถูกเจ้าหน้าที่ตามไปถึงบ้าน จนทำให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ไม่กล้าเข้ามาแสดงสิทธิต่างๆ เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนว่าทัศนคติและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิเด็ก

“เคยคุยกับหน่วยงานราชการที่บอกว่าการไปอยู่ในสถานพินิจน่าจะเป็นสิ่งดีกับเด็ก แอมเนสตี้มองว่าสิ่งนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เราทำงานเรื่องเด็กมา 3-4 ปี สิ่งที่ยากกว่าการผลักดันเชิงนโยบายคือการเยียวยาจิตใจ เราพยายามทำให้เรื่องสิทธิเด็กในประเทศไทยให้สอดคล้องกลไกลระหว่างประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าการเยียวยายังมีปัญหาไม่ใช่แค่เยียวยาเด็ก แต่อย่าลืมว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองก็ต้องการเยียวยาด้วยเช่นกัน”

ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดทำ “คู่มือการชุมนุมสาธารณะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแนวทางการชุมนุมประท้วงที่ปลอดภัยและเสรีของยูนิเซฟ” เป็นสิ่งที่ดีในการให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก แต่ในฐานะองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลกมองว่า “ไม่มีอะไรจะศักดิ์สิทธิ์เท่าทัศนคติของผู้ใหญ่ทุกคนที่มีต่อสิทธิเด็ก” เธอมองว่าคู่มือนี้จะนำมาใช้ได้จริงผู้ใหญ่ต้องเห็นศักยภาพของเด็กให้ได้ก่อนว่า พวกเขาเขาควรมีพื้นที่แสดงออกโดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือถูกคุกคามชีวิตและจิตใจ เพราะต่อให้มีคู่มือที่ดีมากแค่ไหน แต่ถ้าทัศนคติของผู้คนในสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ดีขึ้น การมีคู่มือไปก็เท่านั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *