“ควายไทย มรดกไทย” ณ พระนครศรีอยุธยา

งาน “Thailand Buffalo Heritage ควายไทย มรดกไทย” โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จัดขึ้น ณ ลานหลังวัดมหาธาตุและวัดหลังคาขาว อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. เพื่อผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และต่อยอดในการเป็น Soft Power ด้านวัฒนธรรม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความเหมาะสมและความพร้อมในการจัดงาน ด้วยการเดินทางที่สะดวก ใกล้กรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้มหาศาล และยังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจผ่านวัฒนธรรม Soft Power อาทิเช่น การท่องเที่ยวโบราณสถานตามรอยละครดัง “พรหมลิขิต” ซึ่งยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534, การเลือกซื้อ “สายไหม” ขนมขึ้นชื่อของจังหวัด ที่แม้แต่ ลิซ่า ยังลิ้มลอง

“ควายไทย” อีกหนึ่ง Soft Power ของไทยที่ปัจจุบันนี้มีผู้ที่ให้ความสนใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่นิยมเลี้ยงและเพาะพันธุ์มากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรปศุสัตว์ไทยได้หลายล้านบาท อีกทั้งยังมีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยการนำควายไทยที่มีความผูกพันกับชาวนาไทยมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่โดดเด่นและเป็นเสน่ห์ของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้และสร้างประสบการณ์กับแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านควายในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

“Thailand Buffalo Heritage ควายไทย มรดกไทย” ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ การแสดงแสง สี เสียง ชุด “มนต์เสน่ห์ ควายสยาม” และการเดินแฟชั่นโชว์ควายไทยครั้งแรกของประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด “น้องทุยเผือกมงคลชีวิต” เล่าถึงความเป็นมาของน้องควาย ที่ผูกพันกับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะควายเผือกในสมัยอยุธยาที่นิยมมอบควายเผือกเป็นของกำนันเพราะถือว่าเป็นสัตว์มงคล, “ไอ้ทุย ตัวละครเอก” ควายเป็นสัตว์มีคุณ เป็นทั้งเพื่อนและสัตว์เลี้ยง นักเขียนนวนิยายชื่อดังยังนำควายมาเป็นตัวละครเอกในเรื่องที่สร้างชื่อเสียงมากมายหลายเรื่อง เช่น มนต์รักลูกทุ่ง บางระจัน เป็นต้น, “อนุรักษ์ควายไทย” ปัจจุบันการเลี้ยงควายต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก แต่ก่อนเราเลี้ยงควายเพื่อใช้งาน แต่ในปัจจุบันเราเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นและมีการจัดประกวดน้องควายชิงถ้วยรางวัลมากมายจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และ “แฟชั่นไทย แฟชั่นควายไทย” การเดินแฟชั่นโชว์ของคนกับควาย เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าการอนุรักษ์ควายไทย ประกอบไปด้วย 4 ชุด “นักเลี้ยงควายไทยในปัจจุบัน”, “มนต์รักลูกทุ่ง”, “บางระจัน” และ “ชุดไทยสมัยก่อน (ออเจ้า)”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *