“นิรุตต์ – สมภพ” โดนใจกับบทบาท ย้ำให้แง่คิด

“นิรุตติ์ ศิริจรรยา” กับบท “อารักษ์” และ “สมภพ เบญจาทิกุล” กับบท “บริพัตร” เป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่วัยเรียนจนกระทั่งเรียนจบและแยกย้ายกันไป กลับมาเจอกันอีกครั้งก็ล่วงเลยไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่ความเป็นเพื่อนก็ยังไม่จางหายและผุดขึ้นอีกครั้งในซีรีส์ “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ชมอีกครั้งที่ www.VIPA.me

“นิรุตติ์” เผยว่า “อารักษ์ เป็นผู้ชายมีอายุคนหนึ่ง แล้วก็มีครอบครัว มีร้านอาหาร และมีเรื่องในอดีตที่มันเกิดเมื่อ 40 ปีก่อน มีลูกชายที่ไม่ค่อยเอาไหน เหมือนพ่อกับลูกที่ไม่ค่อยลงรอยกัน ซึ่งมันก็จะเป็นคติธรรมที่สอนว่ามนุษย์เราเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับใครบางทีก็มักจะมองไม่เห็นความดีของเขา แม้แต่ลูกที่ดูแลเรา คนใกล้ชิดเรา  หรือแม้แต่พ่อกับแม่ ซึ่งเรื่องนี้เหมือนจะสอนว่าวันหนึ่งเราจะนึกได้ว่าสิ่งที่เราทำลงไปมันถูกหรือไม่ ละครเรื่องนี้มีหลายมุมมอง ที่ต้องติดตามชม ด้วยเรื่องวัฒนธรรมของอาหารไทย วัฒนธรรมของความเป็นเพื่อน ซึ่งห่างกันไปแล้วก็ยังดูแลกันอยู่  แล้วเราก็ไปเจอเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่เขาสนใจในสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ลูกเราที่เขาอยู่กับเรา เขากลับไม่สนใจสิ่งที่เรามี นั่นเป็นการสะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน ที่บางคนหนีห่างจากสังคมที่เรามีร่วมกัน แต่คนข้างนอกที่เขาไม่มี เขากลับอยากที่จะเข้ามาอยู่ร่วมกับสิ่งที่เรามี นั่นคือความแตกต่างของสังคมในปัจจุบัน สมัยก่อนลูกก็จะทำตามสิ่งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายพาทำ แต่เดี๋ยวนี้จะฉีกออกไปแล้วไปทำอย่างอื่น เนื่องจากยุคของสังคมใหม่และโซเชียลใหม่ ที่มีแต่คนที่ตามกัน อยากจะเป็นกระแสแล้วก็ทำตาม ซึ่งตัวเองอาจจะมีพรสวรรค์อะไรที่ดีกว่าแต่ไม่ถูกนำเอามาใช้ ไม่เคยถูกคิดไม่เคยถูกนำมาใช้มันก็จะหายไป อยากบอกว่าเป็นละครที่ดี ที่ผมอยากจะฝากละครเรื่องนี้ให้ติดตามกันด้วยครับ” 

“สมภพ” พูดว่า “บริพัตร เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มองคนอื่นในแง่ดี แล้วเข้าใจวิธีการคิดของคนรุ่นใหม่  จริงๆ ผมกับตัวละคร บริพัตร เหมือนชีวิตจริงของผม คล้ายกันตรงที่ว่าเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับอะไรมากมาย มองโลกในแง่ดี มองคนอื่นในแง่ดี ก็ตามอายุของชีวิตจริงนะ สิ่งที่คนดูจะได้จากละครเรื่องนี้ ถ้าดูตามแล้วคิด นอกจากความบันเทิงแล้วจะได้ข้อคิดที่เรียกว่า ชีวิตแต่ละคน อย่าเอาแต่ความตั้งใจของตัวเองมาเป็นที่ตั้งเหมือนกับ อารักษ์ (หนิง นิรุตต์) ที่เขาเอาความตั้งใจของตัวเอง เอาประสบการณ์ของตัวเอง จนไม่ไว้ใจใครไม่ยอมใคร  จริงๆต้องให้เขาเรียนรู้และแก้ปัญหาเอง เมื่อเขาแก้ไม่ได้เราถึงจะเข้าไปช่วย ละครเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าคนยุคใหม่กับยุคเก่าสามารถจะเข้ากันได้ อย่าง บริพัตร คุยกับ ภราดร (ปอนด์-พลวิชญ์)  ที่เราคุยกันได้ ก็เพราะว่าเรายอมรับฟังเขา แล้วในเรื่องนี้สอนหมดเลย ถ้าเราไม่รับฟังเขาก็เหมือนอยู่กันคนละโลก ละครเรื่องนี้ให้ข้อคิดและคติดีมาก เป็นเรื่องของชีวิตจริงของคนปัจจุบัน ถึงจะเป็นคนละรุ่น แต่ถ้าเราต่างรับฟังกันเข้าใจกัน  อาจจะผิดจะถูกแต่รับฟังกัน มันถึงจะไปด้วยกันได้ แต่ถ้าพูดแล้วเขาไม่รับฟังออกคำสั่งอย่างเดียวมันก็ไปกันไม่ได้ครับ”

ติดตามได้ที่ Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram: Thai PBS, www.thaipbs.or.th, Application: Thai PBS

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *