“ชุดไทย” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เตรียมถูกเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโกในงานประชุมเสวนาในการเตรียมความพร้อมจัดทำข้อมูล ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยนักแสดงสาว สินจัย เปล่งพานิช
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับชาติอื่น ๆ ด้วยการออกแบบและการตัดเย็บที่ประณีตอันเป็นพัฒนามาจากการนุ่งห่มแบบไทย สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้ผ้าทอที่เป็นงานฝีมือของช่างไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว สำหรับสุภาพสตรีมี ๘ แบบ ที่รู้จักในนาม “ชุดไทยพระราชนิยม” โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่าง ๆ และออกแบบเพื่อทรงใช้เป็นฉลองพระองค์ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา สุภาพบุรุษมี ๓ รูปแบบที่สวมใส่ในวาระโอกาสต่าง ๆ
“ในปัจจุบันการสวมใส่ชุดไทยถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมที่แสดงออกทางวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนชาวไทย การเลือกใช้ชุดไทยแบบต่างๆ ให้เหมาะสมแก่โอกาส ถือเป็นความเคารพต่อแนวปฏิบัติทางสังคม และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่วนการเลือกใช้ผ้า และการตัดเย็บ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ช่าง และช่วยธำรงไว้ซึ่งงานช่างฝีมือดั้งเดิมด้านการทอผ้าพื้นบ้านของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ เสริมสร้างให้เกิดพลวัตในการสร้างสรรค์สิ่งทอพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ชุดไทย จึงมีคุณค่าต่อสังคมในมิติบทบาททางวัฒนธรรม และมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า “สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทย” เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น คณะทำงานจึงดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น ข้อมูลการสวมใส่ชุดไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์ผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแต่ละแขนงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการชุดไทย โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่า “ชุดไทย” ทั้งมิติบทบาททางวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาชีพและรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
การเสวนาเรื่อง “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกายไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม” โดยอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ, อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน ได้ให้ความรู้ถึงประวัติศาสตร์ หลักฐานการใช้ชุดไทยเริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี กรุงศรีอยุธยา วิวัฒนาการต่อมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ และเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพัฒนาและสร้างมาตรฐานให้ชุดไทยได้รับความนิยม และมีการจำแนกการใช้งานตามวาระ โอกาสต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบแบบแผน
หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วยผู้ถือครองหลักคือคนไทยในทุกภูมิภาคของประเทศและในต่างประเทศ, กลุ่มช่างตัดเย็บชุดไทย, กลุ่มช่างทอผ้าพื้นบ้าน, การสืบทอดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตวัตถุดิบผ้าทอพื้นบ้าน, หน้าที่ทางสังคม และความหมายทางวัฒนธรรมต่อชุมชน และเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของยูเนสโก ในการรวบรวมข้อมูลของมรดกภูมิปัญญาฯ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม จากชุมชนผู้ถือครองอย่างกว้างขวางอีกด้วย