สยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะองค์กรมิใช่ภาครัฐที่ทำงานเชิงวัฒนธรรม เข้าร่วมเป็นภาคีกับ Climate Heritage Network ผลักดันสู่นโยบายในระดับสากล ร่วมกับ Petra National Trust ในการประชุม COP28 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม ศกนี้ ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เมษ์ สุพิชชา สุทธานนท์กุล หนึ่งในสองเยาวชนไทยตัวแทนไปร่วมเวทีเสวนาที่ COP 28 แสดงความเห็นว่า “การสื่อสารเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับเรื่องสำคัญอย่างภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมควรเข้าถึงทุกคน เพราะความไม่เข้าใจนำไปสู่การพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อโลกแบบที่เป็นอยู่ มรดกทางวัฒนธรรมสะท้อนความรู้ความเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลย์ของผู้คนในอดีต สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจรากฐานของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เมษ์เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบสำคัญของทุกคนที่จะถอดรหัส ทำความเข้าใจมรดกของเรา เพื่อส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ต่อไปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาโดยไม่ขัดแย้งหรือฝืนธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้โลกเกิดปัญหาจากความเสื่อมถอยที่มาจากการอนุรักษ์และพัฒนาที่ไม่ไปด้วยกัน”หัวข้อที่สุพิชชาจะร่วมเสวนา ได้แก่’แปลไม่ได้ไปไม่เป็น: อุปสรรคทางภาษาในการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ’ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินรายการ หัวข้อ ‘สภาพอากาศและวัฒนธรรมเมือง: มุมมองจากเอเชีย’”