หวังลดคนตาย 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน จัดกิจกรรม TALK…พลังผู้สูญเสียเพื่อการสร้างความปลอดภัยบนถนน เนื่องใน “วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า “วุฒิสภาให้ความสำคัญและดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จากการดำเนินงานมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายด้าน แต่ยังมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอยู่ จากข้อมูลการบูรณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ปี 2554-2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วกว่า 250,000 คน ยังไม่ร่วมผู้บาดเจ็บนับล้านคน โดย 4.6% ของผู้บาดเจ็บจะเป็นผู้พิการ หรืออย่างน้อยครอบครัวละ 3 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 70% เป็นวัยเด็กและวันทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว สาเหตุหลักมาจาก ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่เคารพกฎจราจร และดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ กิจกรรม talk แสดงพลังผู้สูญเสียเพื่อการสร้างความปลอดภัยบนถนนในวันนี้ เพื่อร่วมรณรงค์วันเหยื่อโลก ระลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และเตือนสติให้ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนน รู้สึกร่วมรับผิดชอบทุกชีวิตบนท้องถนน เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

“ผมในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ขอส่งเสียงถึงรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการติดตามเกี่ยวกับนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตีสี่ จะเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาพูดคุยว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจะคุ้มค่ากับการเติมผู้ดื่มแล้วขับลงสู่ท้องถนนมากขึ้นหรือไม่ ในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจแม้จะสำคัญในภาวะเศรษฐกิจทดถอย แต่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยของผู้ใช้ชีวิตและทำงานทั้งในกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าในฐานะคนขับ คนโดยสาร คนเดินเท้า ยืนยันว่าเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้ชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทศวรรษปลอดภัยทางถนนที่จะต้องลดคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือไม่เกิน 8,500 คน หรือลดให้เหลือผู้เสียชีวิต 12 คน ต่อประชากรแสนคน จากตัวเลขปี 2565 ที่มีคนตาย 17,000 กว่าคน” นายสุรชัย

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า “สถานการณ์ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ แต่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งจัดการ เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนวันละเกือบ 50 คน และมีผู้บาดเจ็บ ผู้พิการจำนวนมาก ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจครอบครัวผู้สูญเสียหรือการดูแลผู้ที่ต้องพิการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ การสร้างความปลอดภัยทางถนนของไทยต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน ซึ่งสสส. ขับเคลื่อนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสีย ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ได้รับผลกระทบ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงผลักดันมาตรการทางนโยบาย กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมสนับสนุนเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนท้องถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570

“สสส. ร่วมรณรงค์วันเหยื่อโลก โดยเผยแพร่หนังโฆษณา แคมเปญ “#Save สมอง…สวมหมวกกันน็อก สมองไม่น็อก” เน้นสื่อสารผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กับการสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ป้องกันศีรษะและสมองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สื่อสารข้อดีของการสวมหมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในไทย ซึ่งมีมากกว่า 20 ล้านคัน” นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่ของคุณหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เหยื่อถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย กล่าวว่า “ทางม้าลายจำเป็นสำหรับประชาชนในข้ามถนนอย่างปลอดภัย แต่ที่ผ่านมากพบว่า มีคนจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลายปีละกว่าพันกว่าคน ปัญหาหามาจากสภาพถนน การทำสัญลักษณ์ไม่ชัดเจน จำนวนรถที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือพฤติกรรมขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร ที่ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุจะทำให้ตนคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่ายจากการรถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่มีกระจกมองข้าง แถมยังขับแซงรถที่ชะลอให้คนข้าม แล้วพุ่งชนจนเสียชีวิต แม้เหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 2 ปี แต่ครอบครัวเรายังเจ็บปวดแสนสาหัส พ่อกับแม่ก็เริ่มแก่ตัว ร่างกายทรุดโทรมแต่ยังต้องขึ้นศาลเพื่อหาความยุติธรรมให้กับลูกของเรา โดยไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนทุกอย่างจะยุติ ทั้งนี้ มองว่าการที่สังคมไทยตีความอุบัติเหตุบนถนนเป็นการกระทำโดยประมาท สามารถยอมความได้ เป็นการลิดรอนคุณค่าชีวิตของผู้สูญเสีย

“อุบัติเหตุระหว่างข้ามทางม้าลายยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก วันนี้ใกล้ครบรอบ 2 ปี การเสียชีวิตหมอกระต่าย ทางม้าลายในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปจากสีขาว ดำ กลายเป็นสีแดง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันแสดงถึงความปลอดภัยหรือไม่ เพราะบางคนยังละเมิดกฎจราจรสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ดังนั้นขอให้ทุกคนมาร่วมสร้างสังคมใหม่ หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่แซงในเขตทางข้าม ลดหรือชะลอความเร็วเมื่อเห็นป้ายเตือนสีเหลืองทางข้ามเสมอ ไม่จอดรถทับทางม้าลาย อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดเสมอว่า ทางม้าลายต้องปลอดภัย” คุณแม่หมอกระต่าย กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *