เปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรใหม่ในงาน CRA Open House 2024 ซึ่งได้รับความสนใจจากน้องๆ และผู้ปกครองอย่างล้นหลาม รวมทั้งเปิดประสบการณ์เรียนรู้ ทดลองและเห็นโอกาสทางสายวิชาชีพในอนาคตของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากกิจกรรมสัมผัสห้องเรียนจำลอง การทดสอบความถนัดในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพหลากหลายรูปแบบตามสถานการณ์จำลอง เปิดโลกวิทยาศาสตร์การพยาบาล รับคำแนะนำจากคณาจารย์ประจำแต่ละหลักสูตร และทัวร์ห้องการเรียนการสอนทุกคณะ

รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร กระจายศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ชื่อย่อ วท.บ. (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี จุดเด่นของหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และสมรรถนะในการทำวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนในภารกิจหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดการเรียนการสอนคล้าย Pre-Medical School สามารถต่อยอดในการเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหรือวิชาชีพอื่นสายการแพทย์ได้ บูรณาการองค์ความรู้ด้วยศาสตร์ด้านการวิจัย นวัตกรรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ เปิดโอกาสให้บัณฑิตทำงานได้หลากหลาย เป็นสาขาที่ขาดแคลนและต้องการของประเทศเป็นอย่างยิ่ง อาชีพที่รองรับได้หลังสำเร็จการศึกษา เช่น บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน นวัตกรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรทางด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษา เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการด้านการแพทย์ เช่น บริษัทยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยทางการแพทย์”

อาจารย์ ดร.ปัญจภรณ์ อู่รัตนมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา และ อาจารย์กฤษดา ทองทับ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี “หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) เป็นหลักสูตรแรกของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี รับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2566 เพื่อเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของพยาบาลสู่ระดับสากล โดยบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์สามารถต่อยอดในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ ทั้งการเรียนต่อ หรือการทำงานต่างประเทศในอนาคตการเรียนการสอนภาคทฤษฎีมีการเรียนวิชาพื้นฐาน วิชาเฉพาะสาขาที่เป็นวิชาชีพ การศึกษาภาคปฏิบัติครอบคลุมในห้องปฏิบัติการเสมือนจริง และในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมทั้งการปฏิบัติในชุมชนอีกด้วยคณาจารย์ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา มีประสบการณ์และผลงานทางวิชาการ ทั้งงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน “สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ พัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science รองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นสาขาใหม่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตของหลักสูตรจะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ฐานข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ของทั้งการรักษาและการวิจัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วตลอดการเรียนในหลักสูตร 4 ปี มีทั้งภาคทฤษฎี คือ การเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เช่นการเขียนโปรแกรม สถิติ และระบบฐานข้อมูล ร่วมกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) เช่นระบบสุขภาพ การวินิจฉัยและอณูชีววิทยา และจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองในภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกงานกับสถานที่ประกอบการจริง นักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งสองด้านมาประยุกต์รวมกันให้เกิดเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพต่อไปภายหลังจากจบหลักสูตรแล้วนักศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ในสาขาวิศวกรรมข้อมูล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ชีวสารสนเทศและชีววิทยาเชิงระบบระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ กิตติพยัคฆ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ “ปัจจุบัน นักรังสีเทคนิค ถือเป็นบุคลากรการแพทย์สาขาที่ขาดแคลนระดับประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค มีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงเรียนรังสีเทคนิคได้นำ Virtual Environment in Radiotherapy Training (VERT) มาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชารังสีรักษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยจุดเด่นของเครื่องมือนี้คือ เป็นการจำลองห้องฉายรังสีรักษาเสมือนจริง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เครื่องมือ หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนภาคทฤษฎีเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ในห้องเรียน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้เมื่อนักศึกษาได้ออกไปฝึกงานภาคปฏิบัติ ทั้งหมดนี้การเรียนการสอนจะมีอาจารย์ดูแลการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด”

ฉัตรพร เรืองทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ “หลักสูตรที่มีความพร้อมด้านการผลิตบุคลากร “ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ” ในการทำงานด้านบริการสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย มุ่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ และนักปฏิบัติการที่มีทักษะสามารถประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่มีคุณภาพใช้เวลาศึกษา4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ นักศึกษาที่จบหลักสูตรฯ นี้ไปสามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาล ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์สุขภาพ และสโมสรกีฬาและเพื่อตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคตของประเทศไทย โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพสอนให้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวและออกแบบโปรแกรมการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมได้สำหรับทุกช่วงอายุ”

นางสาวชัชชญา สุนทรอาคเนย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (4 ปี) คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ “คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (หลักสูตร 4 ปี) ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 40 คน คุณสมบัติจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือ เทียบเท่า จากสาขาวิทยาศาสตร์เป้าหมายเพื่อผลิต“นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์”รองรับอาชีพสาขาขาดแคลนการเรียนการสอนเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและข้อเท็จจริงเป็นหลัก เช่น ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติหลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นสาขาของการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่กระทำต่อผู้ป่วยฉุกเฉินนอกสถานพยาบาลเป็นหลัก รวมทั้งสามารถดูแลเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการช่วยชีวิตและป้องกันการเสียชีวิตภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการบริบาลและดูแลรักษาผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล และในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นการกู้ชีพชั้นสูง การทำหัตถการและการบริหารยาฉุกเฉิน การรักษาและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย”

ติดตามได้ที่ www.CRA.AC.TH, https://www.facebook.com/CRAPCCMS

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *