PASAYA ผุดแนวคิด ปรับชีวิตเป็นมิตรกับโลก

PASAYA (พาซาญ่า) ผู้นำด้านนวัตกรรมสิ่งทอเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการหมุนเวียนพลังงานและก้าวสู่การเป็น Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) กับการขับเคลื่อนโครงการ “Mission to the World 2023” ซึ่งเป็นปีที่ 2 ผ่านกิจกรรมการปลูกป่าภายในโรงงาน (Green Factory) ที่จังหวัดราชบุรี ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “อยู่อย่างไรให้เป็นสุข? บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา” (How to Live Better Life in an Ever-changing World?) โดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ Social Activist Artist พิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง และ วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ชเล วุทธานันท์ กรรมการผู้จัดการ PASAYA กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วความสุขที่ดีที่สุดเริ่มต้นที่การรู้จักตัวเอง มีวินัยกับตัวเอง และค้นพบความสุขสงบในจิตใจ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นเรื่องดีที่เราจะค้นหาสมดุลระหว่างความรู้และความสุขให้เจอ ผมมักจะเน้นย้ำเรื่องการให้ความรู้กับผู้คนเพราะเมื่อเราเข้าใจว่า การดำเนินชีวิตสร้างผลกระทบต่อโลกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การเดินทาง และการหายใจ ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทั้งสิ้น อาหารเหลือทิ้งก็เป็นขยะ การซื้อเสื้อผ้าใหม่ใช้ของเก่าอย่างไม่คุ้มค่าก็ก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกันPASAYA จึงส่งเสริมการออกแบบเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอดควบคู่กับ Green Factory เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เราปลูกต้นไม้ในโรงงานไปแล้ว 488 ต้น และปลูกต้นไม้ภายในพิพิธภัณฑ์แม่อีก 1,500 ต้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเราตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ภายในโรงงานบนพื้นที่ 100 ไร่ภายในปี 2025 เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 300 ตันต่อปี เมื่อมีต้นไม้ก็จะช่วยรักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ท้องถิ่น เรายังรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยการร่วมงานกับศิลปินชื่อดังของไทย คุณเอ๋-วิชชุลดา และคุณนุ้ย-วรรณิสา (ถามะนาศาสตร์) ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนผ้าทอของ PASAYA เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ใกล้สูญพันธ์จากฝีมือของมนุษย์”

โน้ต-วัชรบูล ที่ทำงานให้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมานานกว่าสิบปี กล่าวว่า “เมื่ออัตราการเติบโตของเมืองเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าก็ลดลงทุกปี การเผาป่าก็ยังไม่หมดสิ้นและปัญหา PM2.5 ก็วนเวียนมาอีกครั้งแม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยรับมือกับฝุ่นควันได้ดีขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ดี ขณะที่กลุ่มเปราะบางและคนชายขอบจะเอาเงินที่ไหนซื้อเครื่องฟอกอากาศซึ่งปัญหาการรุกล้ำป่าที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของระบบนิเวศทางชีวภาพอีกด้วย แม้ทุกวันนี้บางชุมชนจะมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาปากท้องที่ทำให้หลายคนเลือกเส้นทางเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวมาก่อนสิ่งแวดล้อมและสัตว์ท้องถิ่น ซึ่งจุดนี้เราต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เพราะบางนโยบายก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการเก็บภาษีที่ดินรกร้างทำให้สิ่งมีชีวิตและพืชท้องถิ่นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราจึงพยายามรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะผมอยากส่งต่อความสมบูรณ์ของผืนป่าให้กับเจเนอเรชั่นต่อไป”

ต๊ะ-พิภู เสริมว่า “คำว่า ‘สายเกินไป’ ในที่นี้ ผมหมายถึงเราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อยืดอายุให้โลกอยู่กับเรานานที่สุด ไม่ใช่พอคิดว่าสายเกินไปก็ใช้ชีวิตแบบปล่อยปละละเลย ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ mindset และบางครั้งเราอาจต้องคิดให้ลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ผู้ผลิตเองก็ต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเห็นว่าผู้ผลิตในยุโรปดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมมาหลายสิบปีแล้ว ขณะที่บ้านเราเพิ่งมาตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่าลืมว่าประชาชนอย่างเราก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปยังผู้ผลิตได้เช่นกัน เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่จากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราจะ change ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ แล้วเดินหน้าไปด้วยกัน”

เอ๋-วิชชุลดา เจ้าของผลงานศิลปะจากขยะ คืนชีวิตใหม่ให้สิ่งของในแบบ Up-cycling กล่าวว่า “เราสามารถชะลอไม่ให้ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) รุนแรงกว่านี้ได้ ด้วยการบริโภคอย่างมีสติและพอเพียงอย่ามองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว เราอยากให้คุณใช้ของที่มีอย่างคุ้มค่าของเก่า ๆ ที่เราไม่ได้ใช้ก็นำมาปรับเปลี่ยนเป็นของใหม่ได้ อย่างเสื้อผ้านำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าผ้าได้ แต่อย่าทำให้ Down-cycle เพราะมันจะสร้างขยะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีไอเดียจริง ๆ ก็นำของไปบริจาค เพราะขยะของเราอาจเป็นของที่มีประโยชน์สำหรับอีกคนก็ได้ ในส่วนของแบรนด์เองก็ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำตามกระแส เพราะผู้บริโภคยุคใหม่เน้นเรื่องนี้กันมากและไม่ได้มองแค่ฉาบฉวยอีกต่อไป

“อย่างการที่เอ๋ได้ร่วมงานกับ PASAYA ทำให้เราได้สัมผัสกับนวัตกรรมที่ใช้ในการทอผ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะ รวมถึงการหมุนเวียนพลังงานภายในโรงงาน สอดคล้องกับแนวทางในการทำงานของเราด้วยเช่นกัน คอลเล็กชั่นพิเศษที่เอ๋ร่วมกับ PASAYA จึงเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ดี ๆ ที่เราอยากให้คนเห็นถึงความสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แล้วหันมาปรับชีวิตให้เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น การปรับเปลี่ยนขีวิตไม่ยากอย่างที่คิด ลองเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ อย่างการคัดแยกขยะ ช้อปอย่างมีสติ เปลี่ยนวันละนิดก็จะปรับวิถีชีวิตของเราได้เอง”

นอกจากนี้ PASAYA นำเสนองาน “PASAYA Grand Sale 2023” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Give Good Fest” ที่จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 – 7 มกราคม 2567 ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/PASAYA.shop

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *