MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

MMAD (MunMun Art Destination) ชั้น 2 และ 3 ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เป็นชุมชนศิลปะของคนกรุงเทพฯ แห่งใหม่ เพื่อให้ศิลปินมีพื้นที่นำเสนอผลงานและแสดงความคิดสร้างสรรค์และทุกคนเข้าถึงศิลปะ ทั้งการจัดแสดงงานศิลปะ ตลาดศิลปะและงานฝีมือ ประเดิมด้วย 9 นิทรรศการจาก 10 พันธมิตรทางศิลปะ เปิดอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคมนี้

“Re-look”: 20 ต.ค. 2566-22 ม.ค. 2567

งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ไปจนถึงศิลปะจัดวางสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ซึ่งไหลเวียนอยู่ในพื้นที่เมืองโดยมีผลงานศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นสาธารณะ ชวนให้กลับไปมองนิยามและคำจำกัดความต่าง ๆ ของเมืองในหลากมิติ โดยศิลปิน ปรัชญา เจริญสุข, กามีละ อิละละ, ธนบดี วัฒนารักษ์, นพนันท์ ทันนารี ฯลฯ

“เสียง เร้า รส (Sonic Seasoning)”: วันนี้- 3 ธ.ค. 2566

ร่วมลิ้มลองความอร่อยผ่านหู ด้วยจังหวะและท่วงทำนองของอาหารกับเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์จากงานวิจัยและทดลองผ่านเสียงปลุกประสบการณ์การรับรู้แปลกใหม่ เร้าอารมณ์ให้ผู้ฟังต้องการลิ้มลองรสชาติเพิ่มมากขึ้นในโซนที่ 1 Sound & Food เผยแพร่ความรู้ด้านเสียง ความสำคัญของเสียงในการสื่อสารด้านอาหาร และข้อมูลจากร้านสตรีทฟู้ดยอดนิยมในย่านศรีนครินทร์ โดยแบ่งออกเป็น เมนูยามเช้า ก๋วยเตี๋ยว เมนูเส้นเครื่องดื่ม กาแฟสดอาหารพื้นถิ่น หรือ อาหารฮาลาล ของทานเล่น และโซนที่ 2 Street Food List แลกเปลี่ยนข้อมูล นำเสนอร้านสตรีทฟู้ดในย่านศรีนครินทร์

“EMERGE: Photo Thesis Exhibition 2023”: วันนี้- 5 พ.ย. 2566

นิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาปีการศึกษา 2565 และ 2566จากหลากหลายสถาบัน มหาวิทยาลัย คณะ และสาขาวิชา จำนวน 30 ชุด

“Childhood: A Solo Exhibition by Sahred Toy”

20 ต.ค. 2566 – 7 ม.ค. 2567

อารักษ์ อ่อนวิลัย หรือ Shared Toy นักวาดและนักเขียนผู้ชื่นชอบการนำเสนอองค์ประกอบที่ ‘ไม่สมบูรณ์’ กับความจริงที่ต่างไปจากชีวิตประจำวัน ผ่านรายละเอียดยิบย่อยในภาพวาด ที่มาพร้อมกับเหล่าคาแรกเตอร์สุดน่ารักนุ่มนิ่ม แต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันสุดทะลึ่งทะเล้น สไตล์เจ้าหนูจอมทโมน

“พาใจกลับบ้าน Homecoming Mini”: 20 ต.ค. 2566 – 4 ก.พ. 2567

ชีวิตที่ต้องรีดเค้นศักยภาพตัวเองเพื่อทำบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบให้ออกมาดีที่สุด ส่งผลให้ร่างกายและจิตใจถูกบีบอัดจากแรงกดดันรอบตัว การไม่ได้ดูแลตัวเอง ขาดการเชื่อมต่อกับสัญญาณต่างๆ จากร่างกาย สะสมตัวกลายเป็นความซึมและเศร้า เรียนรู้วิธีรับมือกับภาวะเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง เพิ่มทักษะในการดูแลตัวเอง หันหน้ากลับมาหาตัวเอง เริ่มพูดคุย ถามไถ่ และเข้าไปในหัวใจที่อ่อนล้า “พาใจกลับบ้าน” และหยิบยื่นความรักให้กับตัวเอง

“Pira Ogawa: My Life Works”: 20 ต.ค. 2566 ถึง 7 ม.ค.2567

นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของพีระที่จัดแสดงโดยไล่ตามระยะเวลาในการทำงานและแบ่งผลงานออกเป็น 3 ช่วงตัวแทนความสุข ความสนุก และความหลากหลายทางมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ การทดลอง การนำเสนอความเป็นไปได้ และการก้าวผ่านอุปสรรคที่เผชิญแต่ละช่วงวัย โดยใช้กระดาษไข กระดาษสี ผ้าใบ สีอะคริลิก ปากกามาร์คเกอร์ ปากกาเมจิก ฯลฯ

“Vibe-Bration”: 20 ต.ค.-8 ธ.ค. 2566

อาร์ตอีเวนท์ที่หลากหลายทั้งรูปแบบและมุมมองเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางศิลปะ นำเสนอผลงานของ 27 ศิลปิน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนคือ Vibe Village การแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation Art), Viberuns พื้นที่ของศิลปินหน้าใหม่หลากหลายแนวคิดและรูปแบบ และ Vibesang การแสดงผลงานศิลปะจัดวางโดยนําเสนอในรูปแบบสื่อศิลปะบนกล่องไฟ (Light-box Art)

“บันทึกเรื่องราวของสี Chronicles of Colors”

20 ต.ค. 2566 – 22 ม.ค.2567

วสันต์ สิทธิเขตต์, สิทธิธรรม โรหิตะสุข และ วราวุฒิ อินทร ศิลปินทั้ง 3 ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนำเสนอสีสันอันฉูดฉาด แสดงอารมณ์อันเกรี้ยวกราด และความมีชีวิตชีวา ทั้งเป็นการนำเสนอความคิด บันทึกห้วงอารมณ์ ความรู้สึกเป็นเสมือนหนังสือแห่งชีวิต แต่ละคน แต่ละเล่ม แต่ละรูปแบบ ใช้สีสันแทนถ้อยคำ

“Language of The Soul (ภาษาแห่งจิตวิญญาณ)”

20 ต.ค. 2566 ถึง 29 ม.ค. 2567

นิทรรศการภาษาแห่งจิตวิญญาณ ตอน “ที่ซึ่งสีสันกระซิบเรื่องราวสุดพิเศษ” นำเสนอมหรสพส่วนบุคคลของศิลปินอิสระอย่างไร้กฎเกณฑ์ ผลงานจากความรู้สึก ความทรงจำหรือประสบการณ์อันวูบไหวไม่จีรัง (ephemeral) ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นทั้งศิลปะดิบ (Art Brut) ศิลปะพิเศษ (Singulier Art) ศิลปะนอกกรอบ (Outsider Art) งานประดิษฐ์ (Invention) หรืออาจอยู่นอกเหนือคำนิยามใด ๆ เป็นประสบการณ์การรับรู้ผ่านการมองเห็นโดยจักษุประสาท (Visual Perception) การรับรู้ผ่านการอ่านถ้อยคำ (Textual Perception) และการรับรู้เชิงพื้นที่ (Spatial Perception) โดยศิลปิน ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ วชิรวรภักดิ์ ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ โดยมีศิลปินเช่น พศิน สิงห์เสน่ห์, ปัญฑ์ฉัฐม์ ฉันทภควินท์, ธีรัช อภิพัฒนา และ พริสร ปานบ้านแพ้ว “ปูนศิลป์”

ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/MunMunArtDestination

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *