“กอร์ดอน ชุง” (Gordon Cheung) ศิลปินชื่อดังครอบครัวชาวจีนเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศสิงคโปร์ ชื่อว่า “Paradise Found Paradox” ณ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์อาร์ต สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 7 – 28 ตุลาคม 2566 งานเปิดวันที่ 7 ตุลาคม เริ่ม 16.00
ศิลปินได้ผสานเอาภาพทิวทัศน์แบบสื่อผสม (Mixed Media) อันน่าหลงไหล เข้ากับองค์ประกอบภาพนิ่ง และงานประติมากรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเงียบสงบในสวนของนักปราชญ์ชาวจีนซึ่งเขาได้รวมเอาความงดงามของธรรมชาติเข้ากับความปรารถนาอันลึกซึ้งของมนุษย์ชาติไว้อย่างชาญฉลาด กอร์ดอน ชุง บอกเล่าเรื่องราวของความย้อนแย้งภายใต้แนวคิดแห่ง “การค้นพบดินแดนแห่งสวรรค์ (Paradise Found)” ซึ่งมองลึกลงในความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างแนวคิดอันแสนสงบและงดงาม กับเงามืดที่ซ่อนเร้นของการล่าอาณานิคม
งานศิลปะของกอร์ดอน ชุง ได้ถักทอเรื่องเล่าแห่งการล่าอาณานิคมนี้ไว้อย่างแยบยล ผ่านพื้นที่อันเป็นเสมือนดินแดนสงบสุขภายในสวนของนักปราชญ์จีนและเชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมเดินทางอย่างใคร่ครวญบนเส้นทางของบันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะ ดอกไม้ที่เบ่งบานอย่างงดงาม และภูมิทัศน์ที่ผันแปรตามกาลเวลาถูกนำเสนอร่วมกับภาพวาด 40 ทิวทัศน์จากม้วนกระดาษของหยวนหมิงหยวน (Yuanmingyuan) หรือที่รู้จักในนามพระราชวังฤดูร้อนโบราณแห่งเมืองปักกิ่ง พระราชวังที่สงบร่มเย็นแห่งนี้ได้ตกเป็นเหยื่อของการปล้นสะดมและเผาทำลายในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความขมขื่นบนผ้าแคนวาสของกอร์ดอน ชุง
“Paradise Found Paradox” สวนอันเงียบสงบของนักปราชญ์จีนได้ปรากฎเป็นทั้งสวนอีเดนอันศักดิ์สิทธิ์รุ่งโรจน์ และสัญลักษณ์แห่งความสูญเสีย สะท้อนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันระหว่างดินแดนที่สงบสุข และขมขื่นงานศิลปะของกอร์ดอน ชุง ยังกระตุ้นให้เราใคร่ครวญ และผลักดันให้เราสืบค้นถึงความซับซ้อนของมุมมองภายในที่ส่งผลถึงการรับรู้ของเราต่อ “แดนสรวงสวรรค์” และตำนานที่ยังคงอยู่ของลัทธิการล่าอาณานิคมผ่านทางประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่ผู้ชมจะได้ถูกเชื้อเชิญให้ตั้งคำถามต่อความสัตย์จริงของหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะ ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆหล่อเลี้ยงความเข้าใจที่ถ่องแท้ต่อการเล่าเรื่องราวแห่งมนุษย์ชาติร่วมกันของพวกเรา