“Museum Mania” นิทรรศการและร่วมการประมูลผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่า พร้อมสำรวจประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ โดยความร่วมมือระหว่าง The Art Auction Center และ RSF Art Clinic (Restaurateurs Sans Frontières Art Clinic) ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และปกป้องรักษางานศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับนานาชาติมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-22 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 -20.00 น. ณ RCB Galleria 1 ชั้น 2 และ RCB Artery ชั้น 1 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และ 22 ต.ค. ลงทะเบียนเข้าร่วมงานประมูลเวลา 11.00-13.00 น. เริ่ม 14.00 น. ณ RCB Artery
ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “เราอยากพัฒนาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์เช่นเดียวกับชาติยุโรป ในประวัติศาสตร์แรก ๆ ของการเกิดพิพิธภัณฑ์อาจจะยังไม่ถูกเผยแพร่เข้าสู่ความเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นการรวบรวมผลงานโดยชนชั้นนำของประเทศ ผู้ที่ชื่นชมกับการมีพิพิธภัณฑ์ในช่วงเริ่มต้นก็คือ กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับองค์ความรู้ในลักษณะนี้ เคยไปเห็นเคยได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับชาวต่างประเทศ แต่เมื่อองค์ความรู้เรื่องนี้มีมากขึ้นในสังคม การเกิดพิพิธภัณฑ์ที่เป็นช่องทางที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้จึงเริ่มเปิดตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่เพียงแค่เราไปเห็นผลงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ยังนำเสนอคุณค่าที่มากกว่านั้น ไม่ได้มีแค่คุณค่าของความเป็นงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เรายังได้เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราได้เรียนรู้รสนิยม และที่สำคัญคือ เราได้เรียนรู้ว่าแนวความคิดของผู้ที่จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาต้องการจะพูดถึงเรื่องอะไร เราได้เห็นถึงคุณค่าของการเกิดขึ้นของชาติ คุณค่าของการเกิดขึ้นของสังคม และคุณค่าของเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตต่าง ๆ ด้วย”
ท่านสามารถร่วมการประมูลและจะได้ชมนิทรรศการในบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ในอุดมคติ ซึ่งได้ร้อยเรียงเรื่องราว 2 ศตวรรษของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ผ่าน 5 ยุค จากรากฐานตั้งแต่ยุคสยามศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งศิลปะไทยถูกสร้างสรรค์จากความหลากหลาย โลกาภิวัตน์ และยุคสมัยแห่งดิจิตัล
ยุคที่ 1 สยามศิวิไลซ์และความสัมพันธ์กับศิลปินยุโรป
หลังการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกโดยเฉพาะจากยุโรปมาสู่เอเชีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่างไทยโบราณซึ่งเคยทำงานศิลปะเพื่อเชิดชูและตอบสนองความต้องการของวัดและวัง ใกล้ชิดกับความเชื่อ ภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้รับอิทธิพลจากองค์ความรู้และธรรมเนียมปฏิบัติสมัยใหม่ได้พัฒนาเรียนรู้แนวคิดของการทำงานศิลปะแบบตะวันตก
หลังเสด็จประพาสยุโรป ในช่วงปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อผลงานศิลปะจากศิลปินตะวันตกจำนวนมาก ทั้งยังว่าจ้างศิลปินและสถาปนิกจากต่างประเทศให้มาทำงานในราชสำนัก สถาปนิกและศิลปินจากยุโรปที่มีบทบาทในสังคมสยาม รวมถึง กาลิเลโอ คินี มัณฑนากร จิตรกร และประติมากร ผู้วาดภาพตกแต่งเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม คาร์โล ริโกลี จิตรกรผู้วาดภาพตกแต่งภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม วังบางขุนพรหม และพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และ คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป์ พีระศรี) ประติมากรผู้ปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปิน นายช่าง และสถาปนิกชาวยุโรปกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าองค์ความรู้ทางศิลปะถ่ายทอดไปสู่ประชาชนชาวไทย เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ประยุกต์ใช้ศิลปะตะวันตกโดยศิลปินไทยเพื่อนำตอบรับพระราโชบายของราชสำนัก และกลายเป็นรากฐานสำคัญของศิลปะสมัยใหม่ของประเทศในเวลาต่อมา
ยุคที่ 2 บุกเบิกการเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะของประเทศไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง เป็นโรงเรียนศิลปะแห่งแรกส่งเสริมและสืบสานศิลปะแนวประเพณี เทคนิคช่างสิบหมู่ และมีการเรียนการสอนศิลปะแบบตะวันตกเพิ่มเติมด้วย พ.ศ. 2486 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิด นักเรียนเพาะช่างจำนวนมากได้เข้ามาศึกษาต่อและหลายท่านเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยด้วย
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนชั้นนำในประเทศไทยได้เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ บางคนแม้ไม่ได้ศึกษาโดยตรง แต่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีโลกทัศน์ในการชื่นชมศิลปะอย่างชาวตะวันตกจึงได้นำความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมากมาย ทั้งยังมีศิลปินจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสร้างสรรค์ผลงานในแวดวงสังคมไทย และมีศิลปินผู้บุกเบิกก่อร่างสร้างศิลปะสมัยใหม่ในประเทศ โดยอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้นอกห้องเรียน สถาบันการศึกษาศิลปะ สร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว ฝ่าฟันอุปสรรค จนกระทั่งได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งในและนอกวงการ
ยุคที่ 3 จากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมสู่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คอร์ราโด เฟโรชีได้รับมอบหมายให้เปิดโรงเรียนสอนศิลปะแบบตะวันตกให้กับประชาชนชาวไทย โดยต่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นมาและรวมเข้ากับโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากร ภายหลังยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร
คอร์ราโด เฟโรชีภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานการเรียนการสอนศิลปะร่วมกับคณาจารย์และนักปราชญ์ด้านศิลปะของประเทศไทย ลูกศิษย์ของท่านกลายเป็นศิลปินที่บุกเบิกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสมัยใหม่ นำหลักการและแนวคิดทางศิลปะตะวันตกเข้ามาประยุกต์และผสมผสานกับการสร้างสรรค์ศิลปะของตนเอง หลายท่านยังมีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ศิลปะไทยในยุคนี้เป็นลักษณะผสม (hybrid) โดยการหยิบเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประเพณีมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
ยุคที่ 4 สืบสานปณิธานศิลป์ พีระศรี
หลังจาก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505 ศิลปินหัวก้าวหน้าจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างสรรค์ผลงานในแนวสมัยใหม่ที่หลากหลาย น่าสนใจ และแปลกใหม่
ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2519 ศิลปะแบบสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) ได้ปรากฏให้เห็นมากขึ้น ควบคู่กับแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต และการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการรณรงค์ การประท้วง และการเรียกร้อง หวังผลในเชิงท้าทายและต่อต้านกระแสศิลปะเพื่อศิลปะ อีกแนวทางศิลปะที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนในสังคมไทยคือ ศิลปะในรูปแบบของการสืบสานอัตลักษณ์ ทั้งเชิงรูปแบบและเนื้อหาจากประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น บอกเล่าภาพลักษณ์ “ความเป็นไทย” สู่สายตาชาวต่างชาติ วงการศิลปะเกิดเวทีการประกวดที่ให้ความสำคัญกับผลงานจิตรกรรมแบบรากฐานของประเพณีไทยดั้งเดิม มีการจัดตั้งภาควิชาศิลปไทยในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อส่งเสริมงานสร้างสรรค์ในลักษณะไทยประเพณีและลักษณะไทยสร้างสรรค์แนวทางที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ปลูกฝังไว้ได้นำมาพัฒนาต่อยอดให้ศิลปะประเพณีไทยสามารถสื่อสารในบริบทของสังคมร่วมสมัยมากขึ้น ศิลปินสามารถเลือกทำงานได้ทั้งในเชิงอนุรักษ์ สืบสานจากแนวทางดั้งเดิม หรือว่าจะพัฒนาสู่แนวทางการสร้างสรรค์เฉพาะตัวที่ถ่ายทอดความเป็นไทย
ยุคที่ 5 ความหลากหลายจากโลกาภิวัตน์ ร่วมสมัย และยุคแห่งดิจิทัล
นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2530 จวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย
ในช่วงปี พ.ศ. 2540 กับวิกฤตต้มยำกุ้ง วงการศิลปะของไทยได้รับผลกระทบ ความเฟื่องฟูของตลาดศิลปะและผลงานในแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ตพบกับโจทย์ความท้าทาย กระแสศิลปะร่วมสมัยที่คำนึงถึงปัญหาในเชิงสังคมอันหลากหลาย การวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะกระแสหลักเติบโตขึ้นพร้อมกับพื้นที่และชุมชนทางศิลปะใหม่ ๆ ปัญหาสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่แสวงหาอิสรภาพและทางออกใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ อีกทั้งโรคระบาดและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมล้ำสมัยต่าง ๆ ได้พลิกโฉมวงการศิลปะ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในเทคนิคหลากหลาย เชื่อมโยงแนวความคิดและเทคนิคการทำงานเข้ากับกระแสความเป็นนานาชาติ ชี้นำสังคมและกระตุ้นความสนใจของนักสะสมด้วยภาษาทางศิลปะอันเป็นสากล หลายคนประยุกต์ใช้หรือหยิบยืมแนวทางศิลปะนอกกระแสมาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการพลิกผันแนวทางศิลปะบนท้องถนน ศิลปะแบบป็อปอาร์ต ศิลปะแบบของเล่น (Toy Art) ศิลปะเชิงภาพประกอบ (Illustrative Art) ศิลปะดิจิทัล NFTs ให้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ดูและนักสะสม กลายเป็นกระแสความนิยมที่สะท้อนทิศทางของตลาดศิลปะในยุคที่ผันแปรไปกับกระแสของโลกออนไลน์ดังเช่นในปัจจุบัน
ผลงานศิลปะที่เข้าสู่การประมูลมากกว่า 130 ชิ้น รวมทั้ง กาลิเลโอ คินี, คาร์โล ริโกลี, ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรชี), ประกิต (จิตร) บัวบุศย์, ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์, จ่าง แซ่ตั้ง, ประเทือง เอมเจริญ, เขียน ยิ้มศิริ, อังคาร กัลยาณพงศ์, ถวัลย์ ดัชนี, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, อิทธิพล ตั้งโฉลก, ปรีชา เถาทอง, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, อุดม แต้พาณิช, อเล็กซ์เฟส – พัชรพล แตงรื่น, มอลลี่ – นิสา ศรีคำดี, กิตติ นารอด ฯลฯ
ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/theartauctioncenter, Line: @theartauction, 065-097-9909