วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวง 338 ปี

“งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” นำเสนอความงดงามของวัดคู่วัง-ประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับการแสดงแสงสีและวัฒนธรรมไทย รวมถึงการนั่งสมาธิที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก บันทึกสถิติลงใน Guinness Book of World Records สู่จุดหมายแห่งการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาระดับโลก ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 2 มกราคม พ.ศ. 2567

พระพรหมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เปิดเผยว่า “นับตั้งแต่การก่อตั้งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเดิมชื่อว่าวัดสลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏศิลาจารึกมีอยู่ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปหินซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสลัก โดยอักษรที่จารึกนั้นเป็นอักษรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใน ปีพ.ศ.2228 และนับจนถึงปัจจุบัน ปีพ.ศ.2566 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีอายุครบ 338 ปี ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง ทำให้มีความรู้ความสามารถตั้งตนในทางที่ชอบได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4”

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นับเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาพระอารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2326 พระอารามนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 5 พระองค์ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก  มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้นจากมหาธาตุวิทยาลัย สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นามพระอารามได้เปลี่ยนจากวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ในปัจจุบันการจัดงานนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ใน ปีพ.ศ.2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพพระมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ทุกพระองค์ ที่ได้สร้างและทำนุบำรุงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน”

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นจุดหมายแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ ประกอบไปด้วย 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ “พระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ (พระเจดีย์ทอง)” ในพระมณฑป สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระมณฑปสูง 10 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นที่สักการบูชา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ สันนิษฐานว่า ภายในพระเจดีย์ทองนี้ได้บรรจุพระอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไว้ด้วย, “พระศรีสรรเพชญ์” พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ, “บวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นแม่ทัพผู้ทรงพระปรีชาสามารถสูงทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังบวรสถาน บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุและทรงส่งเสริมงานศิลปะสาขาอื่น ๆ, “พระประธานศิลาแลง (หลวงพ่อหิน)” พระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ) ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารหลวง และ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2361 ปัจจุบัน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อายุ 205 ปี

งานสมโภชพระอารามหลวงนี้จะประกอบไปด้วย Illuminate Lighting Show กับแสง สี และ Mapping ภายใต้คอนเซ็ปต์ “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา: Journeying Through Light of Wisdom”, Thai Jazz Concert ดนตรีที่เชื่อมโยงความงดงามของวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความผูกพันและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนากับสังคมไทยในคอนเซ็ปต์ “Minimal Music”: ดนตรีเล่าเรื่อง (เครื่องดนตรีน้อยชิ้นแต่เห็นภาพและสร้างสรรค์) ผสมผสานกับ Mapping Laser Building ที่ตัวอาคารตามจังหวะเสียงดนตรี แสดงวันละ 3 รอบ รวมทั้งตลาดย้อนยุค อาหารและขนมไทยที่มีเอกลักษณ์และตลาดงานคร๊าฟ (Mahathat Craft Market)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *