ภาพยนตร์ “A Time To Fly…บินล่าฝัน” โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมด้วย อิเมจิแมกซ์ จัดจำหน่ายโดย ยูเจ็ดสอง สตูดิโอ ได้รับฟีดแบ็คที่ดีจากนักเรียน จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งโรงเรียนบ้านห้วยทราย สะท้อนให้เห็นว่านักแสดงนำ น้องโบกี้-ด.ช.ศุภัช ท้าวสกุล, เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน และพระเอกหนุ่มลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก แมน-ธฤษณุ สรนันท์ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาต้องการจะสื่อได้อย่างเป็นธรรมชาติ ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ในวันที่ 14 กันยายนนี้
ผู้กำกับ โส่ย-ศักดิ์ศิริ เปิดเผยว่า “ผมแคสท์ติ้งเด็กจำนวนหนึ่งประมาณ 40 คน แต่น้ องโบกี้-ด.ช.ศุภัช ท้าวสกุล เล่นธรรมชาติมาก อย่างฉากร้องไห้ก็เล่นได้น้ำตาไหลออกมาง่าย ๆ หรือบางฉากผมก็เน้นความรู้สึกจริง ๆ อย่างฉากที่ครูและนักเรียนไม่รู้ว่าการแข่งพับกระดาษจริง ๆ ต้องแข่งในที่ร่ม หรือกระดาษที่หม่องซ้อมพับมาตลอดคือขนาด A4 แต่พอไปญี่ปุ่นเขาใช้กระดาษ A5 ซึ่งชีวิตจริงหม่องและคุณครูในตอนนั้นก็ไม่รู้รายละเอียด กฏและกติกามากนัก แม้กระทั่งเรื่องหม่องเป็นเด็กไร้สัญชาติ ชีวิตจริงคุณครูก็แก้ปัญหาด้วยความไม่รู้เช่นกัน พอตอนถ่ายทำผมก็ไม่ให้นักแสดงรู้เรื่องนี้ ให้พวกเขาไปรู้หน้างานเหมือนกัน ก็ได้ความสมจริงไปอีกแบบครับ
“ในส่วนของเอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน ที่รับบทเป็น “ครูน้อย” ทีมแคสท์ติ้งก็แนะนำว่าคุณเอ๋แสดงได้ดี พอถึงหน้างานผมก็ปล่อยให้เขาเล่นไปตามบทเลย เขาเล่นออกมาเป็นคุณครูที่ใจดี มีจิตใจของการเป็นครูอย่างแท้จริง ตอนที่เข้าฉากคุณเอ๋สามารถทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นครูที่พร้อมจะสู้และเสียสละเพื่อเด็กครับ ในส่วนของ แมน-ธฤษณุ สรนันท์ รับบทเป็น “ครูวีระ” แมนทำให้บทง่าย ๆ ดูมีความสำคัญขึ้นมา เขาต้องเล่นเป็นครูพละที่ดูสบาย ๆ แต่ก็เอาใจใส่นักเรียนทุกคนอย่างเต็มที่ ก็ต้องขอบคุณเขานะครับ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากชีวิตจริงของ “หม่อง ทองดี” บุตรของนายยุ้นและนางม้อย ทองดี ชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ผู้มีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่นแต่ประสบปัญหาเรื่องสัญชาติแล้วได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จนคว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีมและรองชนะเลิศอันดับ 2 ณ ประเทศญี่ปุ่น
“หม่อง ทองดี” เลือกเรียนสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะมีความชํานาญในการบังคับโดรนในระดับผู้ฝึกสอน ได้ทํางานในการบังคับโดรน ถ่ายภาพ และช่วยงานเบื้องหลังงานด้านสื่อกับองค์กรที่ช่วยดูแลตนเองมาโดยตลอด ทั้งยังอยากนำความความรู้ความสามารถด้านการทำหนังมาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตัวเองและเด็กไร้สัญชาติ อยากนำเสนอในมุมมองของเด็กที่มีปัญหาเหมือนกับตนเอง ให้สังคมได้รู้ว่าปัญหาของเด็กเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่แนวทางการช่วยเหลือต่อไป