“Hope Blood and Love” (ความหวัง โลหิต และความรัก) ผลงานของ “กั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า” ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2563 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “Turandot” อุปรากรเรื่องสุดท้ายของจาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) ซึ่งได้ถูกตีความใหม่ร่วมกับ ผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในรูปแบบการแสดงเดี่ยวพร้อมกับฉากหลังของภาพวาดบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมของศิลปินชาวอิตาลี กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) จะถูกนำไปแสดงที่ประเทศอิตาลีในเดือนกันยายนนี้ ในวาระ 150 ปีชาตกาลของ กาลิเลโอ คินี
กั๊ก-วรรณศักดิ์ กล่าวว่า “เราก็เลือกที่จะเล่าเรื่องราวนี้จากมุมมองของผู้หญิง โลกาภิวัตน์และบทบาททางเพศได้เปลี่ยนวิธีที่เราตีความประวัติศาสตร์และศิลปะ ในปี 2023 ‘Turandot’ อาจโดนใจผู้ชมยุคใหม่แตกต่างกันไป และนำเสนอบทเรียน แนวคิด และโอกาสในการอภิปรายประเด็นใหม่ๆ บางทีพลังของผลงานชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ที่ความยิ่งใหญ่อลังการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพในการเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการรับรู้เรื่องเพศอันหลากหลายในงานศิลปะด้วย”
การแสดงชุดนี้จะมีถูกจัดขึ้น 3 ที่ๆ มีความหมายกับชีวิตของกาลิเลโอ คินี และเป็นการนำเอาผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยไทยสู่นานาชาติ ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา Museo di Antropologia e Etnologia เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต กาลิเลโอ คินี ได้มอบของสะสมที่นำมาจากสยามเกือบทั้งหมด มีทั้งผ้าไทย เครื่องแต่งกาย เครื่องเคลือบดินเผา หัวโขน หน้ากาก ชฎา พระพุทธรูป ตุ๊กตาจีน เครื่องดนตรีไทย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานจิตรกรรมของเขา บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้, วันที่ 9 กันยายน ณ โรงละคร Teatro dell’ Olivo ใจกลางเมือง Camaiore ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นในปี 1772 ต่อมาได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 80 เทศบาลเมืองได้เข้ามาฟื้นฟูโครงสร้างและเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2003 ปัจจุบันกลายเป็นโรงละครที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดใน Versilian Coast และ วันที่ 12 กันยายน ณ ลานกลางแจ้ง ของอาคาร Tamerici, Montecatini Terme ที่กาลิเลโอ คินี ได้ออกแบบงานประติมากรรมตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน โดยใช้เครื่องเคลือบดินเผาจากโรงงานของเขา นับเป็นการสร้างสรรค์ศิลปะประดับคุณภาพสูงที่มีทั้งความสวยงามและความแข็งแกร่งทนทาน “กั๊ก-วรรณศักดิ์” แสดงทุกตัวละครตั้งแต่ผู้เล่าเรื่อง ชาวบ้าน ทหาร เจ้าหญิงตูรันดอท เจ้าชายนิรนาม ไปจนถึงนางทาสหลิว และขับร้องเคลื่อนไหวไปตามบทเพลงที่รังสรรค์จากนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำมาประกอบการแสดงโดย เอก โอตรวรรณะ ด้วยไอแพดผสมการบรรเลงสดจากเครื่องเคลือบดินเผา เครื่องดนตรีประกอบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเซรามิกของกาลิเลโอ คินี เกิดจากการศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีการผลิตจากตระกูลคินี โดย ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยเครื่องแต่งกาย ชุดที่ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบดินเผา รังสรรค์โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ เชื่อมโยงมาถึงอุปกรณ์การแสดงอื่น ๆ ที่รังสรรค์จากวัสดุที่มีอยู่รอบตัวที่มีอยู่แล้ว นำมาดัดแปลง และจัดวางในการแสดง ทั้งบันไดไม้ไผ่ กล่องเก็บคำตอบ การชักรอก และอุปกรณ์สร้างเสียงประกอบต่างๆ สื่อสะท้อนความหมายว่า ของทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าและประวัติศาสตร์ของมัน ที่รอการบอกเล่าเพื่อชุบชีวิต เช่นเดียวกันกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะจัดแสดงในครั้งนี้ ล้วนมีความหมาย และคุณค่าอย่างมากกับทีมผู้สร้างทั้งชาวไทย และอิตาลี