“บุพเพสันนิวาส ๒” และ “วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ” เป็น 2 ภาพยนตร์จาก 48 เรื่องที่ได้ถูกเสนอเข้าชิงมากที่สุดถึง 12 ใน 17 สาขาด้วยกันในงาน “สุพรรณหงส์ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565” ก่อนที่จะลุ้นกันว่าภาพยนตร์ใดจะครองมากที่สุดในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2566 นี้ ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ ชั้น 6 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ถ่ายทอดสดทาง ทรูโฟร์ยู ช่อง 24, ทรูอินไซต์ ช่อง 335, 113, 38, TrueVisions NOW และแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี
ภาพยนตร์ทั้งสองได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิง 9 สาขาเดียวกัน ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture), รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director), รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor), รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay), รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound), รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song), รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score), รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction), รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design) ขณะที่ต่างสาขาคือ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress), รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) และ รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษและยอดเยี่ยม (Best Visual Effect) สำหรับ “บุพเพสันนิวาส ๒” และ รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress), รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography), รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing) สำหรับ “วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ”
ตามมาด้วย 9 สาขากับ 2 เรื่อง คือ “มายาพิศวง” กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture), รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director), รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor), รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor), รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress), รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score), รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction), รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design) และ รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม : (Best Make Up Effect) และ “เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ” กับรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Feature), รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director), รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress), รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay), รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing), รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound), รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song), รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design) และ รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษและยอดเยี่ยม (Best Visual Effect)
“Blue Again” ชิง 8 สาขา ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture), รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress), รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress), รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay), รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography), รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing), รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound), และ รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score)
“สุพรรณหงส์ครั้งที่ 31” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Season Change” จากเรื่องเล่ารอบกองไฟสู่เรื่องเล่าจากจินตนาการที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำทุกประสบการณ์ ทุกยุคสมัย ถูกสรรค์สร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เปรียบได้ดั่ง “การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล” ยังมีรางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ (Lifetime Achievement Award), รางวัล “ภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม (Best Cultural Promotion Film) และ “Most Popular Thai Film” (ภาพยนตร์ไทยยอดนิยม) เพื่อร่วมกันเฟ้นหาว่าภาพยนตร์เรื่องไหนครองใจประชาชนมากที่สุด
คุณธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติมุ่งเน้นความสามัคคีของสมาชิกในองค์กร มีการผลักดันข้อกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาทางวิชาการและทางเทคนิค เพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวสู่จุดหมายสูงสุดของความนิยมทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ อีกทั้งส่งเสริม รักษา และปกป้องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ ในการประสานงานกับรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันกฎหมายและโครงการต่าง ๆโดยในรอบปีที่ผ่านมาเราได้จัดทำโครงการ “หนังเลือกทาง” เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยอิสระที่ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากขาดงบประมาณด้านการส่งเสริมและการประชาสัมพันธ์ ทางสมาพันธ์ฯจึงทำหน้าที่ประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออนุเคราะห์สนับสนุนและสร้างโอกาสผลงานของผู้ประกอบการเหล่านั้นให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยและนานาประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ Amazing Film Festival Experience ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการนำ Soft Power (5F) ด้าน Film นำอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มาพัฒนาเป็นสินค้าการท่องเที่ยวที่สำคัญและเชื่อมโยงไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วยปัจจัยสนับสนุนด้านความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวไทยที่เคยได้รับคัดเลือกประกอบฉากสำคัญของภาพยนตร์ชื่อดังต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ และอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของสมาพันธ์ฯ คือการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “รางวัลสุพรรณหงส์” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่บุคคลากรในวงการภาพยนตร์ไทย และเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของวงการและอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงภาพยนตร์ไทยที่ได้รับรางวัลให้สาธารณชนรับทราบถึงคุณภาพในการผลิตและสร้างสรรค์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลครับ”
คุณยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “สุพรรณหงส์” เป็นงานประกาศรางวัลด้านภาพยนตร์ที่สำคัญของชาติ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลอันทรงเกียรติเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยและเผยแพร่ชื่อเสียงภาพยนตร์ไทย ที่ได้รับรางวัลให้สาธารณชนรับทราบถึงคุณภาพในการผลิตและการสร้างสรรค์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งแสดงความเป็นหนึ่งและแสดงศักยภาพของวงการภาพยนตร์ไทย นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่กิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามของไทยและเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ว่า “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” รวมถึงสอดคล้องกับภารกิจกระทรวงวัฒนธรรม ในการส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดิฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติจะแสดงให้เห็นความสำเร็จ ความเป็นเอกภาพและพัฒนาการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งพร้อมผลักดันและปักธงให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติต่อไปค่ะ”
รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้ง 17 สาขา
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture):
บุพเพสันนิวาส ๒, มายาพิศวง, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, เวลา, Blue Again
รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Feature):
18 ปี ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง, บูชา, Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director):
อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม จาก บุพเพสันนิวาส ๒, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล จาก มายาพิศวง, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จาก เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ ราสิเกติ์ สุขกาล จาก แอน
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor):
ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ จาก บุพเพสันนิวาส ๒, มาริโอ้ เมาเร่อ จาก มายาพิศวง, ณัฐรัตน์ นพรัตนยาภรณ์ จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, ธนภพ ลีรัตนขจร จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, วงศ์รวี นทีธร จาก OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress):
อภิญญา สกุลเจริญสุข จาก ใจจำลอง, แอน ทองประสม จาก บัวผันฟันยับ, ราณี แคมเปน จาก บุพเพสันนิวาส ๒, อุรัสยา เสปอร์บันด์ จาก เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, ตะวัน จริยาพรรุ่ง จาก Blue Again
รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor):
ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ จาก กล้องติดตาย, พาริส อินทรโกมาลย์สุต จาก บุพเพสันนิวาส ๒, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต จาก มายาพิศวง, ชาดชาย ชินศรี จาก หมอปลาวาฬ, พชร จิราธิวัฒน์ จาก OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ
รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress):
นงผณี มหาดไทย จาก บัวผันฟันยับ, ณฐพร เตมีรักษ์ จาก มายาพิศวง, รัดเกล้า อามระดิษ จาก มายาพิศวง, พลอย หอวัง จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, อสมาภรณ์ สมัครพันธ์ จาก Blue Again
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay):
บัวผันฟันยับ, บุพเพสันนิวาส ๒, เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, Blue Again
รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography):
บูชา, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, เวลา, อาชญาเกม, Blue Again
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing):
เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, เวลา, อาชญาเกม, Blue Again
รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound):
บุพเพสันนิวาส ๒, เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, แอน, Blue Again
รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song):
“ใจฟู” ขับร้องโดย สิงโต นำโชค จาก ใจฟูสอตรี่, “ถ้าเธอรักใครคนหนึ่ง” ขับร้องโดย วรันธร เปานิล จาก บุพเพสันนิวาส ๒, “เดี๋ยวจะทำตามความฝัน” ขับร้องโดย TangBadVoice จาก เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, “ถ้าเธอ” ขับร้องโดย อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข และ วิโอเลต วอเทียร์ จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, “Nobody Knows” ขับร้องโดย อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข และ คริสโตเฟอร์ ชู จาก วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ
รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score):
บุพเพสันนิวาส ๒, มายาพิศวง, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, แอน, Blue Again
รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction):
บุพเพสันนิวาส ๒, ภาพหวาด, มายาพิศวง, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ, เวลา
รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design):
บัวผันฟันยับ, บุพเพสันนิวาส ๒, มายาพิศวง, เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ
รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม (Best Make Up Effect):
แดงพระโขนง, เทอมสอง สยองขวัญ, พี่นาค 3, ภาพหวาด, มายาพิศวง
รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษและยอดเยี่ยม (Best Visual Effect):
๑๐๐ ขา, บุพเพสันนิวาส ๒, ภาพหวาด, เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ, ไลโอ โคตรแย้ยักษ์