MYAirline สายการบินแอร์บัส A320-200 น้องใหม่จากประเทศมาเลเซียที่ให้บริการเที่ยวบินไปและกลับจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ฉลองจำนวนผู้โดยสารครบ 1 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ตั้งเป้าหมายที่จะมีเครื่องบินทั้งหมด 80 ลำปี 2570
นายเรเนอร์ เทียว (Rayner Teo) CEO ของ MYAirline กล่าวว่า “กรุงเทพฯ ได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศแห่งแรกของ MYAirline เนื่องจากจำนวนนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าและออกจากประเทศมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทยบันทึกสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาในประเทศไทยรวม 1,696,358 คนมากกว่าหนึ่งเท่าตัวเมื่อปีที่แล้ว สูงขึ้นถึงร้อยละ 2,119.78 มาเลเซียเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เรามั่นใจว่าแนวโน้มการเติบโตนี้จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างมาเลเซียและไทยจะยังคงพัฒนาต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า”
สายการบินมาเลเซียน้องใหม่นี้ ได้ขยายเส้นทางบินภายในประเทศมาเลเซียสู่ 9 เมืองได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumper) กูชิง (Kuching) โคตาคินาบาลู (Kota Kinabalu) ลังกาวี (Langkawi) ปีนัง (Penang) ซีบู (Xibu) ตาเวา (Tawau) และ มีรี (Miri) และเส้นทางภายในรัฐซาบาห์ (Sabah) จากโคตาคินาบาลูไปยังตาเวา
นายธนภัทร ติยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด การท่องเที่ยวมาเลเซีย สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า “มีเมืองรองปนอยู่ใน 9 เมืองที่สายการบินให้บริการ นักท่องเที่ยวคนไทยไปมาเลเซียหลักๆ คือ KL กูชิง โคตาคินาบาลู ลังกาวี ปีนัง เท่านั้นเอง เมืองอื่นจะเป็นในส่วนของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จากอินโดนีเซียและสิงคโปร์ สำหรับโคตาคินาบาลู อยู่ที่ซาบาห์ฝั่งบอร์เนียว จะเที่ยวหลักๆ มี 2 อย่าง ปีนเขา ภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนนิยมไปปีนเขากันและดำน้ำ เพราะว่าแหล่งดำน้ำของซาบาห์ติดอันดับโลก สิปาดัน (Sipadan)
“นักท่องเที่ยวไทยกว่า 20,000 มาเที่ยวเมืองหลวงของกูชิง เป็นเมืองเจริญมากๆ เมืองหนึ่ง และก็เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในมาเลเซีย ติดอันดับมาหลายปี ผมว่าน้องๆ สิงคโปร์เลย ส่วนใหญ่คนไปเที่ยวเป็นแนวประวัติศาสตร์มากกว่า ลักษณะการท่องเที่ยวซาระวัก (Sarawak) จะย้อนไปตั้งแต่สมัยเป็นพันๆ ปี มีคนป่าที่เป็นคนป่าพื้นถิ่น เป็นชนเผ่าตัดหัวกัน มีหัวจริงๆ อยู่ตามบ้านของคนป่าพวกนี้ในสมัยนั้น”
นายธนภัทร พูดถึงเทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไปหลังจากโควิด นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกันเองแบบ FIT (foreign independent travel) มากขึ้นจากเดิมโฟกัสที่ Travel Agent เป็นหลัก “แต่ตอนนี้หันไปหามีเดียต่างๆ ใช้มีเดียในการโปรโมท สื่อต่างๆ YouTuber, Travel Blogger หรือแม้กระทั่ง Influencer ต่างๆ พาไป FAM Trip อีกส่วนหนึ่งคือสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซีย ตอนนี้เราหันไปทำในส่วนของเมืองรอง เพราะจริงๆ แล้วถ้าพูดถึงมาเลเซีย คนไทยส่วนใหญ่รู้จักปีนัง KL มะละกา (Malacca) เราตั้งใจจะโปรโมทในส่วนของเมืองรองอื่นๆ รัฐซาราวัก (Sarawak) ซาบาห์ (Sabah) และเประ (Perak) โดยเฉพาะเประ จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเประในปีหน้า หรือ Visit Perak Year 2024 จริงๆ เประน่าสนใจมากเพราะว่ามันติดอยู่กับปีนังแล้วก็อยู่ติดกับรัฐเซอลาโงร์ หรือ สลังงอร์ (Selangor) เประอยู่ตรงกลาง แต่คนกลับมาข้ามเประ ทั้งที่เประมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย
“ผมเชื่อว่าเมืองใหญ่ๆ ทั้งสองเมืองมีทุกสิ่งทุกอย่างครบ แต่เประมีป่าที่สมบูรณ์มากๆ เรียกว่าเป็นป่าเหมือนอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะมีระยะเวลาในการเปิด จะมีการนั่งเรือเข้าไปท่องเที่ยวลึกเข้าไปในป่า ซึ่งจริงๆ แล้วผมมองว่ามันน่าสนใจกับตลาดในเมืองไทยเป็นอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการเข้าไปเที่ยวในป่าลึกๆ ต้องขอชมการท่องเที่ยวเประที่เซ๊ตเป็นเรือบ้าน คล้ายๆ แพเมืองกาญจนบุรี เหมือนบ้านลอยน้ำเคลื่อนที่ที่ขับลึกเข้าไปในป่า เราสามารถเที่ยวป่าได้โดยที่ยังมีที่นอนนุ่มๆ นอน ยังมีครัว อาหาร เหมือนยกบ้านเข้าไป ไปเดินป่า ไป Trekking ได้ สัมผัสธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเประยังมีเมืองหลวงของรัฐชื่อว่า อิโปห์ (Ipoh) เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีเสน่ห์มากๆ Slow Life มี Street Art มีกาแฟที่ขึ้นชื่อของเมืองที่เรียกว่า White Coffee ชื่อเสียงดังมาก เป็นแหล่งผลิตของ White Coffee แล้วก็จะมีคาเฟ่เยอะอแยะเหมือนปีนัง แต่ไม่วุ่นวายเหมือนปีนังและ KL ถ้าถามว่าเทรนด์ของการท่องเที่ยวของคนในปัจจุบัน ผมว่าน่าจะเหมาะกว่า
“ทางฝั่งตะวันออกของเประ จะมี Theme Park อยู่ด้วย เป็นแนวครอบครัว นอกจากนี้เประยังขึ้นชื่อในเรื่องของสปาเพราะมีน้ำพุร้อนธรรมชาติอยู่ในรัฐนี้เยอะ ในเรื่องของ Wellness เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามาเประเยอะมากๆ คนไทยน้อยมาก เป็นคนไทยเฉพาะกลุ่ม ทั้งๆ ที่เประ จริงๆ เดินทางจากไทยไม่ได้ยากเลย มันแทบจะมีชายแดนติดไทยด้วยซ้ำ จากหาดใหญ่ สถานีปาดังเบซาร์ฝั่งมาเลเซีย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จะไปถึงอิโปห์ที่เประโดยรถไฟฟ้า ETS (Electric Train Service) ของมาเลเซีย ความเร็วประมาณ 15-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากหาดใหญ่ไปง่ายๆ เลย,” นายธนภัทร ปิดท้าย
ติดตามได้ทาง www.myairline.my, LinkedIn, Facebook, Instagram, TikTok, Twitter, YouTube: @flymyairline; www.malaysia.travel, Facebook, Instagram, Twitter, YouTube: Malaysia Travel