ศิลปินนิเวศสุนทรีย์ “ดร. วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร” ได้ร่วมงาน Mango Art Festival 2023 เป็นครั้งแรกและได้ทำงานเพ้นท์ติ้งเป็นครั้งแรกด้วย รวมทั้งโชว์วาดภาพสดๆ ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้ แบ็งคอก งานนี้จัดถึงวันที่ 6 เมษายน 2564 นี้ ตั้งแต่เวลา 11.00 ถึง 22.00 น.
ดร. วิจิตร เล่าให้ฟังว่า “เราเริ่มจากการทำภาพพิมพ์และได้รับรางวัลมากมาย มีชื่อเสียง ภาพพิมพ์จะดีเรื่องไอเดีย เทคนิค แต่ถึงวันหนึ่งเรารู้สึกว่า มันไม่แสดงออกเรื่องจิตวิญญาณ มันคาใจมาตลอด แล้วมันก็ทำให้เราหยุดทำภาพพิมพ์ไป”
ภาพพิมพ์แสดงออกเรื่องจิตวิญญาณไม่ได้หรือ?
“มันได้แต่มีข้อจำกัด ขนาดก็ต้องเล็ก สีก็ต้องอยู่ในเพรท กระแทกกระทั้นไม่ได้ คือถ้าจะแสดงความรุนแรงก็ต้องผ่านทำเพรทจากมือเราถึงพื้นผิว”
ดร. วิจิตร เล่าต่อว่า “หลังจากนั้นเราไปมองเรื่องของการทำงานเชิงสาธารณะ ก็ไปทำงานหลายอย่างที่เกี่ยวกับพื้นที่เช่น ประติมากรรม หรือกิจกรรมที่เป็นศิลปะเข้าไปจัดการ ก็สนุกสนานกับคนนอกวงการ ก็ทำให้เรารู้สึกว่า สังคมขาดความสุนทรีย์เพราะอะไร เดี๋ยวก็มีความทุกข์ ใช้จ่ายเงินก็ไม่เป็น ใช้ชีวิตอย่างไม่ได้มีทิศทาง เราก็จะพบว่า บางคนก็มีปัญหาเรื่องการเงิน บางคนก็มีปัญหาเรื่องมีเงินแล้วก็ใช้อย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่สังคมไทยไม่ได้บ่มเพาะหรือเรียนรู้กันเรื่องการใช้ชีวิตที่มีสุนทรียภาพ หรืออีกอย่างที่เรียกว่า มีรสนิยม เห็นมั้ยว่า ชาวนามีเงินก็รื้อบ้านไม้ สร้างบ้านปูนทาสีชมพู และก็คิดว่ามันสง่างาม แต่จริงๆ มันไม่เข้ากับวิถีชีวิตยังต้มไก่ ทอดปลาอยู่ ก็ต้องไปทำครัวนอกบ้าน หรือนอนพื้นที่เป็นปูนก็เจ็บหลังปวดหลัง เดินก็ลื่นเพราะไปปูหินแกรนิต นี่คือสิ่งที่ผิดพลาด
“เราก็เลยคิดแนวคิดที่เรียกว่า “นิเวศสุนทรีย์” ขึ้นมา และก็ไปเรียนปริญญาเอก ทำให้พบว่า นิเวศสุนทรีย์ ก็คือการมาเรียนรู้ความเหมาะสมในการใช้ชีวิตในนิเวศ มันก็เลยดึงให้เรากลับมาวาดรูป แต่ก่อนก็อาจจะคิดว่าวาดรูปก็ต้องเป็นศิลปินที่อยากแสดง อวดชื่อเสียงกัน และศิลปินส่วนหนึ่งก็เป็นแบบนั้น โชว์ฟอร์มและก็พูดงานถูกงานแพง มันก็เหมือนชาวบ้านก็เป็น ศิลปินก็เป็น คือการที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิต
“การที่เราเรียนปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับสุนทรีย์ก็ทำให้เราพบว่า เราจะกลับมาวาดรูปเพื่อให้เห็นว่า ถ้าวาดรูปแบบไม่ขายจะเป็นอย่างไร วาดรูปแบบไม่ต้องไปห่วงว่าเราจะสู้ใครได้มั้ย เราก็วาดด้วยการที่ตื่นเช้ามา เห็นกระป๋องก็วาดกระป๋อง เห็นปิ่นโตก็วาดปิ่นโต เห็นก๋วยเตี๋ยวก็วาดก๋วยเตี๋ยว เห็นดอกไม้ร่วงก็วาด ก็เกิดภาพเล็กๆ ขึ้นมาชุดหนึ่งในระยะ 2-3 ปี และระหว่างนั้น เราก็ไปมองเรื่อง อะไรคือความสุขของคนวาดรูป เราก็ไปดึงความรู้สึกเก่าๆ เช่น การที่เราเคยอยู่กับแม่ แม่ไปวัด ปิ่นโตแม่ยังอยู่ ไปเอาปิ่นโตแม่มาวาด มันก็เริ่มมี Feel มีอารมณ์มากกว่าการเป็นภาพเหมือนหรือหุ่นนิ่ง แต่โดยนัยมันก็กำลังจะบอกว่า ความสุขมันก็อยู่กับการวาดรูปนั่นเอง การแสดงออกมันก็เกิดจากความจริงใจกับการแสดงออกนั่นเอง
“วาดไปวาดมา รูปก็ใหญ่ขึ้น คนก็สนใจว่าจะซื้อได้มั้ย เราก็ค่อยๆทำความเข้าใจใหม่ว่า วิถีของคนวาดรูป การแสดงหรือการที่ถูกนักสะสมมาสะสม มันก็ทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่องได้ดี โดยที่เราระวังไม่ให้ไปยุ่งกับการเพ้อฝัน ความอยากดังอยากรวยจนเกินเหมาะสม”
การแสดงภาพวาดครั้งแรกมีกำหนดคอนเซ็ปต์อย่างไร?
“ตอนนี้แนวคิดคือวาดรูปแบบมีความสุขและแสดงออกถึงตัวตน โดยใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อนมาก จริงๆ มันก็คือหุ่นนิ่งเพียงแต่ว่าเราใส่อารมณ์เข้าไป ทีนี้เราก็ไปศึกษาหุ่นนิ่งที่ศิลปินระดับโลก เราก็พบว่าศิลปินระดับโลกเขียนหุ่นนิ่งได้ดีทุกคน เขียนได้ตัวได้ตนดีทุกคน แต่น่าแปลกที่เวลาเขาเขียนจนเป็นคอนเซ็ปต์แล้ว เรารู้สึกว่างานของเขาแย่ลง จากหุ่นนิ่งเราว่ามันเหมือนความบริสุทธ์ใจ แต่พอมาแปลงเป็นแบบประกอบเป็นเรื่องทีไหร พูดง่ายๆ เป็นเรื่องของการตลาด ถ้าเราสังเกตงานดีๆ นะ ในงาน Mango หรืออะไรก็ตาม งานใหญ่ๆ เยอะแยะเราก็รู้สึกว่ามันเป็น Marketing มันไม่ใช่ว่าต้องเหมือนใคร แต่รู้สึกว่า มันไม่ได้ทำจากความสัทธาของตัวเองแต่มันมองเรื่องคนซื้อ มันต้องโทนฟ้าโทนเขียว มันต้องใหญ่ๆ มันต้องเป็นหน้าคน หรือมันต้องเป็นดอกไม้เยอะๆ ยิ่งทำแบบนี้หรือยิ่งคิดแบบนี้ในการทำงาน มันก็ค่อยๆ ถอยไปจากความบริสุทธิ์”
ทำใมใช้สีหนาๆ ลงฝีแปรงแรงๆ?
“เราทำอะไรอยู่ก็ตาม คิดอะไรอยู่ก็ตาม แต่ถึงเวลามันเกิด มันเป็นเสพติดนะการวาดรูป มันมีความรู้สึกว่าไม่วาดไม่ได้แล้ว มันก็ต้องลงมาวาดจากห้องไปที่สตูดิโอและก็พบว่า หัวเปล่าๆ เข็นของมารวมๆ กัน แค่นี้เราก็ทำงานได้แล้ว ไม่ต้องมานั่งแบบจะมีดอกบัว 7 ดอก งั้นก็วาดด้วย Project เหมือนอาจารย์ศิลป์สอนเรื่อง Projection เขียนลากเส้นตรง เส้นเฉียง เส้นตั้ง เส้นนอน และก็ใส่รูปทรงเข้าไป จนถึงสเต็บการเขียน อ้อ เราจะมีแปลกไปอย่างหนึ่งคือ เราจะเขียนด้วยสีดำเป็นหลัก เพราะว่าติดมาจากภาพพิมพ์แล้วก็ใส่สีเข้าไป ก็เหมือนทำภาพพิมพ์แล้วใส่สีน้ำมันเข้าไปแต่บน Canvas เพราะฉะนั้นพวก Painter ตัวพ่อตัวแม่ก็จะรู้สึกว่างานเราไม่มีขั้นตอน Step 1, 2, 3 เห็นอะไรก็ใส่เข้าไป การที่มันไม่ได้เรียนมาจาก Step ของหลักการ Painting งั้นเราจะเห็นว่าที่มันต้องหนาเพราะว่ามันยังไม่ได้ดั่งใจและจะเห็นว่าเราค่อยๆ ปั้นมันด้วย แอบมีลักษณะของการทำเส้นนูนเป็นมิติลวงขึ้นมา ฉะนั้นมันก็ทำให้เราย้อนว่า อย่าง แวนโก๊ะ เขาต้องการทำ Texture มันไม่ใช่ว่าทำ Texture ไปก่อน ทำไปตาม Form และสีที่มี เราเป็นคนซื่อตรงต่อสีในสิ่งแวดล้อมไทย มันจะมีเทาๆ ตุ่นๆ ไม่ได้สดใสเหมือนสียุโรป มันให้อารมณ์หดหู่ดี”
การวาดภาพแต่ละภาพแสดงอารมณ์แตกต่างกันมั้ย?
“ไม่แตกต่าง เพราะว่าเรายังคุมอยู่ในเรากับงานและก็อดีตของเราเล็กน้อย เช่น โอ่งน้ำของพ่อแม่ แจกัน ภาพแบบนี้ต้องไปวัดกับแม่ เสร็จแลัวดูเป็นหุ่นนิ่งก็ได้ แต่ส่วนตัวเราก็นึกถึงพ่อแม่ เราจะเขียนดอกไม้ที่เหี่ยว คือการเขียนดอกไม้สดมัน Fake ในความรู้สึกเรา แต่พอมันเหี่ยว มันเป็นของจริง มันเป็นสัจจะ งั้นตอนสดมันก็เหมือนดอกไม้หลอกให้เราชื่นชม หลอกแมลงให้บินมา คนที่ดูดอกไม้เหี่ยวและสวยต้องเป็นคนที่จริงใจกับดอกไม้ มันก็จะเป็นความรู้สึกของมนุษย์”