ปีนี้ “เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” ได้ถูกยกระดับสู่สากล International Amazing Splash 2023 ครั้งแรกกับขบวนแห่สงกรานต์นานาชาติสุดอลังการจาก 5 ประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศจำลองเทศกาลงานวัฒนธรรมนานาชาติ อาทิ เทศกาลโคลน-เกาหลี เทศกาลโฮลี-อินเดีย เทศกาลเซ็ตซึบุน-ญี่ปุ่น และสงกรานต์สิบสองปันนา-จีน และการแสดงดนตรีจากศิลปินไทยและต่างชาติแบบ NON-STOP ณ บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13–15 เมษายนนี้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า “ประเพณีสงกรานต์ของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 5 F ซึ่งเป็น Soft Power of Thailand คือ F Festival และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ของไทย สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ประเพณีสงกรานต์ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของเอเชียจาก International Festival and Events Association (IFEA) ในปี 2564 ด้วยเหตุนี้ ททท. จึงมีแนวคิดต่อยอดยกระดับงานประเพณีพื้นเมืองไทยสู่สากล (Local to Global) จึงกำหนดจัดงานเทศกาลสาดความสุขสนุกแบบอินเตอร์ International Amazing Splash 2023”
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะประกอบไปด้วย 4 กิจกรรม
“ขบวนแห่สงกรานต์นานาชาติสุดอลังการ” (International Caravan) พบขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์และวัฒนธรรมนานาชาติ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ขบวนแห่พระแก้วมรกตประดิษฐานบนรถบุษบก พร้อมขบวนรถนางสงกรานต์กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะแสดงโดย “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก”, “ขบวนสีสันความสุขของชาวสิบสองปันนา” มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในชุดแต่งกายวัฒนธรรมพื้นเมือง, “ขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสันความสนุกในรูปแบบของเทศกาลโฮลี่ หรือการสาดสี” พร้อมโชว์ในสไตล์ Bollywood, “รถขบวนเซ็ตซึบุน” จากประเทศญี่ปุ่น นำทีมด้วยจังหวะกลองสร้างความตื่นตัว พร้อมปีศาจการโยนถั่ว และตกแต่งด้วยเสาโทริอิกับดอกซากุระและ “ขบวนแห่บอนยองเกาหลี” สื่อถึงความสดใสจากท้องทะเล สนุกสนานในแบบเฟสติวัลริมทะเลของประเทศเกาหลี
“Amazing Splash of the World” จำลองบรรยากาศประเพณีวัฒนธรรมของต่างประเทศที่มีความใกล้เคียงกับประเพณีสงกรานต์ประเทศไทยมานำเสนอเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ ประเทศไทยนำเสนอ “เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศผ่านการสาธิตผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นพร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมทำลงมือทำ DIY ด้วยตนเอง ประกอบด้วย “ภาคเหนือ” การทำตุงน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำส้มป่อยสำหรับใช้ในพิธีรดน้ำดำหัววิถีล้านนา, “ภาคกลาง” อาหารคาวหวาน อาทิ ข้าวแช่, “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผูกเสี่ยวประเพณีเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) “ภาคตะวันออก” พิธีก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือกของชาวไผ่ดำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือพิธีก่อเจดีย์ทราย จังหวัดชลบุรี เป็นต้น และ “ภาคใต้” ประเพณีแห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
การแสดงศิลปวัฒนธรรม “เกาหลีใต้” นำเสนอ “เทศกาลอาบโคลนจากเมืองโพเรียง” กับสระโคลนที่ได้นำเข้าโคลนมาจากเมืองโพเรียง พร้อมการลงแช่โคลน การทาโคลนทั่วตัว การแข่งเกมชิงรางวัลกลางสระโคลน และดีเจเกาหลี, “อินเดีย” นำเสนอ “เทศกาลโฮลี” ที่ใช้ผงสีแสดงถึงมิตรภาพ พร้อมการแสดงดนตรี การเต้นของสาวอินเดียในสไตล์ Bollywood รวมทั้งสักการะพระพิฆเนศ, “จีน” นำเสนอ “เทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา” เสนอเครื่องแต่งกายตามประเพณีของชาวไทลื้อ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และการแสดงเชิงวัฒนธรรมฟ้อนรำ เพื่อทำพิธีขอน้ำ ขอฝน จากเทวดาฟ้าดิน และ “ญี่ปุ่น” นำเสนอ “เทศกาลเซ็ตซึบุน” เทศกาลแห่งการเป่าสิ่งชั่วร้าย และเสริมสิริมงคล ด้วยการโปรยถั่วใส่ยักษ์เพื่อเป็นการขอให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัย
“Splash” ความสนุกบนเวทีกับ โจอี้บอย, อ๊อฟ ปองศักดิ์, วง LAZ1, วง No One Else, ซานิ, วง Yes Indeed, ดีเจจากประเทศเกาหลี อีนเดีย ญี่ปุ่น และจีน พร้อม Waterbomb และอุโมงค์น้ำ สุดสนุกตลอด 3 วันจัดงานและ “Amazing Food” ยกกองทัพเสบียงบูธอาหาร และ Food Truck เติมความอร่อยแบบนานาชาติ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมกว่า 30 ร้านค้า
นอกจากนี้ยังมี “เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย 2566” ซึ่งจะจัดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ “กรุงเทพมหานคร” วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ท่ายอดพิมาน เดอะล้ง 1919 สุขสยามแอท ไอคอนสยาม เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์ และ ท่าศาลเจ้ากวนอู, “บ้านโบราณ 100 ปี จังหวัดเชียงใหม่”, “ถนนอินทยงยศ จังหวัดลำพูน”, “ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี”, “วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น”, “วัดไม้ขาวและบริเวณแยกชาร์เตอร์ (เมืองเก่าภูเก็ต) จังหวัดภูเก็ต”, “ไอคอนสยามมหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ 2566” วันที่ 11-17 เมษายน, “Andamanda Songkran Festival” วันที่ 14 เมษายน สวนน้ำอันดามันดา จังหวัดภูเก็ต, “G Circuit Songkran The Big Bank 2023” วันที่ 13-16 เมษายน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด, “S2O Festival” วันที่ 13 -15 เมษายน ณ ไลฟ์พาร์ค พระราม 9, “บ้านกรูด…ฟีลกู๊ดด 2023” วันที่ 14-15 เมษายน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, “สงกรานต์สยามผ้าขาวม้าปล่อยจอย” วันที่ 13-15 เมษายน ณ สยามสแควร์ และ “งานประเพณีสงกรานต์พระประแดงประจำปี 2566” วันที่ 21-23 เมษายน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ยังมีเทศกาลสงกรานต์อื่นๆ อาทิ “ภาคเหนือ” ประเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ วันที่ 13 – 16 เมษายน ณ เขตเทศกาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย วันที่ 8 – 12 เมษายน ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไทและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย, สรงน้ำพระประเพณีสงกรานต์อ.ปาย วันที่ 13 เมษายน ที่ว่าการอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน; “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เทศกาลดอกคูน เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว วันที่ 8 – 15 เมษายน ณ บริเวณบึงแก่นนคร และถนนศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น; “ภาคตะวันออก” ประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน วันที่ 16 – 21 เมษายน ณ ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี; “ภาคกลาง” งานประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี วันที่ 13 – 17 เมษายน ณ วัดวังก์วิเวการามและเจดีย์พุทธคยาจำลอง อ. สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ไท-ยวน วันที่ 13 – 15 เมษายน ณ วัดโขลงสุวรรณคีรี และกาดวิถีชุมชนคูบัว จ.ราชบุรี; “ภาคใต้” หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ วันที่ 12 – 13 เมษายน ถ.นิพัทธ์อุทิศ 2-3 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, งานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร วันที่11 – 15เมษายน ณ สวนสาธารณะศรีธรรมโศกราชและตลาดริมน้ำเมืองลิกอร์สนามหน้าเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Amazing Thailand หรือ Call Center 1672 Travel Buddy