พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ชวนชม 12 ฉลองพระองค์ 5 ยุคสมัย

“สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” นิทรรศการที่เผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านฉลองพระองค์ตั้งแต่ยุค 1960 จนถึงยุค 2000 กับความงดงามของผ้าไทยจากช่างฝีมือของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ส่งเสริมผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น.

นิทรรศการจัดแสดงฉลองพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบชาวไทยและชาวต่างชาติออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมฉลองพระองค์ไฮไลท์ 12 ฉลองพระองค์ จากแต่ละยุคสมัยรวมถึงสุวรรณพัสตรา

ยุค 60: เสด็จเยือนต่างประเทศ

ช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดลยเดซมหาราช บรมนาถบพิตรไปทรงเยือนทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติและเพื่อให้ขาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ฉลองพระองค์ชุดราตรีผ้าไหมซาติน (พ.ศ. 2505) โดยนายปิแอร์ บัลแมง และ ฉลองพระองค์ชุดกลางวันผ้าไหมซาติน ปักประดับด้วยลูกปัดและคริสตัล (พ.ศ. 2508) โดยนายปิแอร์ บัลแมงพร้อมพระมาลาและฉลองพระบาท

ยุค 70: กำเนิดศิลปาชีพ

ช่วงเวลาที่พระองค์โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฉลองพระองค์ชุดราตรีผ้าไหมลายทาง ปักประดับด้วยลูกปัด คริสตัล และดิ้นโลหะ (ราว พ.ศ. 2513) โดยนายปิแอร์ บัลแมง และ ฉลองพระองค์ชุดราตรี ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าลูกไม้โดยนางเรณู โอสถานุเคราะห์ (พ.ศ. 2522) ไม่ปรากฏป้ายชื่อผู้ออกแบบ

ยุค 80: ทรงนำความเป็นไทยไปสู่สากล

ช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งนอกจากจะทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยจากผ้าทอของสมาชิกศิลปาชีพแล้ว ยังทรงนำผลงานหัตถศิลป์ของสมาชิกศิลปาชีพออกไปเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย ฉลองพระองค์ชุดราตรีผ้าไหมมัดหมี่ (พ.ศ. 2526) โดยนายอีริก มอร์เทนเซน และ ฉลองพระองค์แบบผสมผสานไทย ผ้าไหมมัดหมี่ (พ.ศ. 2525) โดยนายอีริก มอร์เทนเซน

ยุค 90: นักออกแบบไทย

ช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดีไซเนอร์ชาวไทยมีส่วนร่วมในการออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์มากขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้ดีไซเนอร์ชาวไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานในระดับนานาชาติ ฉลองพระองค์ชุดราตรีผ้าไหม ปักประดับด้วยลูกปัด เลื่อม และปีกแมลงทับ (พ.ศ. 2535) โดยนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์

ยุค 2000: สืบสานวัฒนธรรม สืบสานพระราชไมตรี

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ห้องเสื้อในยุโรปรับผิดชอบดูแลการออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ในยุคนี้มากขึ้น แต่ยังโปรดเกล้าฯ ใช้ผ้าทอมือผลงานสมาชิกศิลปาชีพทั้งหมด อีกทั้งทรงยังพระราชดำริให้ฟื้นฟูและดำเนินการจัดแสดงโขนตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2555 ฉลองพระองค์ชุดราตรีผ้าไหมแพรวา และผ้าไหมชีฟอง (พ.ศ. 2549) โดยห้องเสื้อวาเลนติโน และ ฉลองพระองค์แบบสากลผ้าไหมเครป ผ้าชีฟอง และผ้าลูกไม้ ปักประดับลูกปัด(พ.ศ. 2555) โดยนายยุทธพงศ์  มีพรหม พระพัชนีผ้าไหมมัดหมี่ ปักปีกแมลงทับและดิ้นทอง สุวรรณพัสตรา ฉลองพระองค์ในงานพระราชพิธีและฉลองพระองค์ชุดไทยส่วนใหญ่ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมักเป็นสีทองตามความนิยมที่มีมาแต่โบราณ ฉลองพระองค์ชุดไทยแบบผสมผสาน ผ้าไหมยกทอง (พ.ศ. 2503) โดยนายปิแอร์ บัลแมง และ ฉลองพระองค์ชุดไทยสไบสองชาย ผ้ายกทองและผ้ากรองทอง (พ.ศ. 2503) ห้องเสื้อบัลแมงโดยนายอีริก มอร์เทนเซน

บัตรเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 150 บาท ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ราคา 80 บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ 12-18 ปี ราคา 50 บาท เด็กอายุต่ำว่า 12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *