รำลึกถึงชีวิตและมรดกผลงานศิลปะ วาเลครี กูตาร์

“Expression of a Siamese Freedom” นิทรรศการ คิวเรทโดย มาร์ติน เกอร์ลิเยร์ (Martin Gerlier) รำลึกถึงชีวิตและมรดกผลงานศิลปะของ วาเลครี กูตาร์ (Valérie Goutard) หรือที่รู้จักในชื่อ วาล ประกอบด้วยผลงานประติมากรรม 23 ชิ้นเผยให้เห็นถึงเส้นทางทางความคิดในการสรรค์สร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ และหยั่งรากลึกในประเทศไทย ที่ที่เธอเคยอยู่อาศัย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้เธอได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้แล้ววันนี้จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2568

แม้ว่าวาลจะเกิดในฝรั่งเศสและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมระดับโลก แต่เส้นทางศิลปะที่แท้จริงของเธอเริ่มปรากฏชัดเจนหลังจากย้ายเข้ามาอาศัยในประเทศไทยปี พศ. 2547และได้รับแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของประเทศไทย เธอได้ก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นประติมากรในดินแดนที่มอบอิสรภาพให้เธอได้สำรวจและแสดงออกถึงพรสวรรค์อย่างเต็มที่  ในประเทศไทย วาลไม่เพียงแต่พัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ของเธอ แต่ยังได้เรียนรู้ศิลปะเกี่ยวกับการการหล่อบรอนซ์ที่ซับซ้อนจากช่างหล่อระดับปรมาจารย์ของไทย พร้อมสร้างทีมงานในท้องถิ่นที่ร่วมกันสรรค์สร้างผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ของเธอ ประเทศไทยจึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะวิสัยทัศน์ของวาล โดยผลงานของเธอสะท้อนถึงความกลมกลืน การใคร่ครวญในตัวตน และอิสรภาพที่เธอค้นพบในดินแดนแห่งนี้

โรงแรม เดอะ สยาม สถานที่พักผ่อนริมแม่น้ำที่มีการตกแต่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและความงดงามของไทยอย่างแท้จริง ถือเป็นที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการจัดแสดงประติมากรรมของวาลครั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์มรดกไทย โรงแรมแห่งนี้จึงสอดคล้องกับการเดินทางทางศิลปะของวาลอย่างลึกซึ้ง Expression of a Siamese Freedom ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อของนิทรรศการ แต่ยังเป็นการแสดงความเคารพให้เกียรติแก่ประเทศไทย ที่ที่มีผลต่อชีวิตและผลงานของวาล ส่งผลให้เธอได้พัฒนาภาษาแห่งศิลปะที่เป็นสากลและทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ผลงานของวาล มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากลูกเล่นระหว่างโครงสร้างและพื้นที่ว่าง เชื้อเชิญผู้ชมให้ครุ่นคิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุคคล สภาพแวดล้อม และมิติทางจิตวิญญาณที่มองไม่เห็น แนวทางศิลปะนี้ได้รับการถ่ายทอดอย่างลึกซึ้งที่สุดในผลงานชิ้นเอกระดับมหากาพย์ “Du Chaos à la Sagesse” ประติมากรรมสำริดสูง 36 เมตรที่สร้างเสร็จในสตูดิโอของเธอในกรุงเทพฯ  ในฐานะหนึ่งในประติมากรรมสำริดที่ใหญ่ที่สุดในวงการศิลปะร่วมสมัย ผลงานนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์ของเธอเกี่ยวกับการเดินทางของมนุษยชาติ จากความโกลาหลที่อยู่ใต้จิตสำนึกสู่ปัญญาอันลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการเดินทางเชิงปรัชญาที่สะท้อนลึกลงในตัวเราแต่ละคน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *