ระบบการศึกษาไทยต้องมีการปรับตัวในศตวรรษที่ 21 ห้องเรียนต้องไม่มุ่งเน้นแต่ในเรื่องความเก่ง เกรดเฉลี่ย หรือคะแนนรายวิชาเท่านั้น แต่มีความสุขพร้อมที่จะเรียนรู้ สามารถนำไปพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหมือนดั่งโรงเรียนวังจันทร์วิทยา อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม EEC และได้สอนให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งได้จัดทำหลักสูตรเกษตรนวัต
นายศักดา สรรเสริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังจันทร์วิทยา กล่าวว่า “วิสัยทัศน์การเรียนการสอนของทางโรงเรียนคือ เป็นเลิศทางวิชาการ สืบสานความเป็นไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง โดยในด้านวิชาการนั้น ทางโรงเรียนไม่ได้เน้นเพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ ที่ถือเป็นภาระและหน้าที่หลัก ซึ่งได้สนับสนุนอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว แต่ยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดและสนใจ มีการเรียนการสอนที่หลากหลาย รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน ด้านสืบสานความเป็นไทย ได้มีกิจกรรมผ่านการเข้าแถวเคารพธงชาติ เพื่อสร้างความรักในชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ รวมถึงให้ความร่วมมือกับชุมชน อาทิ ประเพณีวิ่งควาย ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ ด้านใส่ใจสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งหน้าที่ให้นักเรียนทำความสะอาด เก็บขยะและใบไม้ต่างๆ มีโครงการ Zero Waste เพื่อจัดการขยะภายในโรงเรียน และส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้บูรณาการกับทุกกลุ่มสาระวิชาในทุกระดับชั้น ผ่านศูนย์การเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 25 ฐาน เพื่อส่งเสริมในการดำรงชีวิตและใช้เป็นวิชาชีวิตที่บ้าน
“เนื่องจากโรงเรียนได้ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ EEC จึงได้สอนให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต อาทิ เรื่องพื้นฐานการผลิตหุ่นยนต์, Coding อย่างง่าย, อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหาร เช่น การแปรรูป ผลิตมะม่วงเพียวเร่, ส่งเสริมอาชีพโดยใช้วิชาชีพทางศิลปะ อาทิ การเพ้นท์กระจก เพื่อนำไปวางขายให้นักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเรียนทวิศึกษาในหลักสูตร “เกษตรนวัต” ในระดับมัธยมปลาย ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สอนเรื่องการเกษตรผสมผสานแบบใหม่ โดยจะเรียนวิชาสามัญที่ รร.วังจันทร์วิทยา 2 วัน และที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อีก 3 วัน เมื่อจบแล้วจะได้วุฒิการศึกษา 2 ใบคือ ม.6 กับ ปวช. สามารถนำไปศึกษาต่อในสถาบันฯ อื่นๆ ได้”
ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 กล่าวว่า “ที่น่าสนใจคือโรงเรียนนี้มีการรักษาสมดุลระหว่างการเรียนรู้ภาคปกติ กับอาชีพในอนาคตของนักเรียน โดยมีตัวขับเคลื่อนที่สำคัญคือการตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม EEC, หลักสูตรเกษตรนวัต และวิสัยทัศน์ของทางโรงเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้แทรกอยู่ในกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ ทดลองสิ่งใหม่ๆ และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยในวันนั้นทาง รร.ยังได้จัดงาน Open House เปิดโอกาสให้นักเรียนโดยรอบได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ อาทิ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี การใช้ภาษา ฯลฯ ซึ่งมีความน่าสนใจมาก สุดท้ายจะขอฝากสิ่งสำคัญของการเรียนรู้ในปัจจุบัน คือการตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง และการให้แรงบันดาลใจในการตั้งคำถามจากสิ่งที่นักเรียนได้ทำหรือเรียนรู้ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เด็กมีแรงกระตุ้นและกระตือรือร้น ที่จะผลักดันให้ตัวเองได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะต้องผลักดันให้นักเรียนตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียนรู้ ว่าได้รู้จริง ตั้งคำถามจริง และทำจริง เป็นอย่างไร รวมถึงสามารถทำกิจกรรมต่อยอด เพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างถ่องแท้ต่อไปในอนาคต”
ชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ukGZlR_rGf8