“Voyage de L’Art” นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะและการประมูลจัดโดย The Art Auction Center บริษัทประมูลงานศิลปะชั้นนําของไทยและ De Siam อาณาจักรแอนทีคที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia เดินทางมาถึงครั้งที่ 11 ชั้น 3 JWD Art Space ตั้งแต่วันนี้จนถึง 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 – 19.00 น. และประมูลผลงานในวันสุดท้าย เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมงานประมูล เวลา 10.00 – 13.00 น. และเริ่มประมูลผลงาน เวลา 14.00 น.
คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทยและบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center กล่าวเปิดงานว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการศิลปะอยู่เสมอๆ เราทำได้ประมูลในงานเดียว 77 ล้านบาท และผลงานศิลปะที่แพงที่สุดเท่าที่มีการประมูลในประเทศไทยเกิดขึ้น งานของอจ ถวัลย์ จบที่ 26 ล้านบาท ทุกครั้งเราจะมีธีมใหม่ๆ อย่างครั้งนี้เราตั้งชื่อว่า “Voyage de L’Art” เพราะว่าเราได้พันธมิตรที่น่ารักคือ De Siam เป็นอาณาจักร Antique ที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia และคอลเลคชั่นที่เราไปดูและพบว่าน่าสนใจคือเขามีคอลเลคชั่นของหีบ Louis Vuittton มากที่สุดใน Southeast Asia เราก็เลยมา Collab กัน เขาก็เลยส่งหีบ Louis Vuitton ต่างๆ มาเพื่อจัดแสดงในงานนี้ หีบพวกนี้อายุโบราณมาก Louis Vuitton ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากการทำหีบ เมื่อสมัย 100 กว่าปีที่แล้ว นาย Louis Vuitton ทำหีบขายก่อน และหีบของเขามีคุณภาพดีมากๆ และก็เป็นที่นิยมในฝรั่งเศส รวมถึงประเทศในแถบยุโรปมากมาย ในสมัยก่อน การเดินทางโดยเรือเดินสมุทรใหญ่ๆ หรือรถไฟ บางทีไปต้องอยู่ไปเป็นเดือน ๆ เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าหรืออะไรต่างๆ ที่ขนไปเยอะๆ ฉะนั้นเขาจึงใช้หีบในการขนของและเดินทางไปเที่ยวในที่ต่างๆ หีบ Louis Vuitton เป็นเจ้าแรกที่สร้างนวัตกรรมใหม่ สมัยก่อนฝาหีบด้านบนจะโค้งๆ เพราะว่าฝนตกลงมา น้ำจะไม่ขัง แต่ Louis Vuitton เป็นเจ้าแรกที่ออกแบบแบนๆ มันขนส่งง่ายโดยการซ้อนๆ กัน เนื่องจากกลัวน้ำขัง Louis Vuitton ออกแบบผ้าใบพิเศษแบบใหม่ที่สามารถกันน้ำได้ เป็นเจ้าแรกที่ประสบความสำเร็จ หีบ Louis Vuitton รุ่นแรกๆ จะเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมามีลวดลายแถบๆ คล้ายผ้าขาวม้า และมาเป็นลายตารางๆ เรียกว่า Damier หลังจาก Louis Vuitton เสียชีวิต ลูกเอาชื่อของพ่อ LV มาทำเป็นลาย Monogram สมัยโบราณไม่ได้พิมพ์แต่เขียนด้วยมือ จะเบี้ยวนิดๆ เอียงหน่อยๆ บางหีบสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนี้นิยมนำหีบมาแต่งบ้าน ตัดกระจกให้พอดีกับหีบและวางบนหีบใช้เป็น Coffee Table ซึ่งหีบแบบนี้ ถ้าไปซื้อที่ร้าน Louis Vuitton ณ วันนี้ ต้องสั่งทำเพราะมันไม่ได้ขายง่าย และหีบใบหนึ่งถ้าสั่งทำใบละเป็นล้าน ล่าสุดมีคนรู้จักไปซื้อหีบที่ Collab กับ Yayoi ใบละเกือบ 20 ล้าน พอเราพูดถึงหีบก็ต้องพูดถึงการเดินทางเป็น Voyage และหีบก็อยู่ในฝรั่งเศส เราก็เลยตั้งชื่อให้เป็นฝรั่งเศส”
นิทรรศการครั้งที่ 11 นี้ ประกอบไปด้วยผลงานทั้งหมด 122 ชิ้น ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 8 โซน “Dans la Forêt (Into the Woods)” เสียงเพรียกจากพงไพร แรงบันดาลใจซึ่งทำให้การเดินทางเริ่มต้น, “Étreinte de la Mer (Sea’s Embrace)” แหวกว่ายสำรวจมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ดำดิ่งสู่สายน้ำแห่งชีวิตซึ่งเป็นองค์ประกอบและต้นกำเนิดทุกสรรพสิ่ง, “Au Dessus de l’Horizon (Above Horizon)”ทะยานสู่วิมานอากาศ ล่องลอยเสมือนฝันท่ามกลางท้องนภากว้างไกลนำพาจิตใจให้สงบ, “Souterrain Éclatant (Volcanic Realm)” ดินแดนอันร้อนรุ่มไปด้วยการปะทุทางความคิดที่จริงจังและเข้มข้น เร่งเร้าให้เหล่านักเดินทางได้เกิดการตั้งคำถามและตระหนักถึงบริบทต่าง ๆ รอบตัว, “Terre de la Réflexion (Land of Reflection)” การเดินทางสู่ดินแดนลึกลับนครมายาที่จะพาเหล่านักเดินทางเข้าสำรวจพื้นที่ภายในใจตน ค้นลึกถึงก้นบึ้งของจิต แสวงหาความจริงแท้ที่อาจซ่อนเร้นหรือถูกกดทับไว้ ให้ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและก้าวเดินต่อไป เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ, “Imagination Illimitée (Limitless Imaginary)”ดินแดนจินตนาการไร้ขอบเขต ที่จะพาเหล่านักเดินทางออกเดินทางไกล ท่องไปสู่ทุกความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด เติมเต็มสิ่งใหม่ให้กับชีวิตอย่างไม่รู้จบ, “Splendeure Occidentale (The Occidental Glory)”ดินแดนอาทิตย์ลับขอบฟ้า พื้นที่แห่งการริเริ่มอารยธรรมตะวันตก และ “Brise de l’Est (Breeze of the East)”ดินแดนสายลมบูรพาที่พัดพาวัฒนธรรมตะวันออกให้อบอวลกรุ่นกลิ่นไปทั่วแดน
ผลงานไฮไลต์ใน “Voyage de L’Art”
มณเฑียร บุญมา “Stupa/สถูป” (พ.ศ. 2537)
“ผลงานขนาดใหญ่ของ มณเฑียร บุญมา ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่หรือจัดแสดงที่ใดมาก่อน เป็นงานซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากงาน 2 มิติในชุด “เจดีย์” ไปสู่งาน 3 มิติในชุด “อโรคยศาล” ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก อาจารย์มณเฑียรมีความสนใจในอโรคยศาล ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของวัฒนธรรมขอมที่พบเห็นได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยในสมัยขอมโบราณ สถานพยาบาลจะมีสิ่งก่อสร้าง 2 หลังสร้างจากไม้และอิฐสำหรับรักษาผู้คนทางกายและทางใจควบคู่กัน เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ก็เสื่อมสลาย เหลือแต่หลังที่สร้างจากอิฐซึ่งเรียกว่า อโรคยศาล อาจารย์มณเฑียรเชื่อว่า ดินซึ่งนำมาสร้างเจดีย์เป็นธาตุที่ห่อหุ้มโลก เป็นที่กำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต ดินสามารถเสื่อมสลายหายไปได้ แต่ดินที่ถูกนำมาปั้นและเผาจนกลายเป็นอิฐจะมีความทนทานแข็งแกร่ง เปรียบได้กับชีวิตที่บรรลุแล้วด้วยการขัดเกลาโดยธรรม งานชิ้นนี้ติดตั้งอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวของนักสะสมมาตั้งแต่สร้างเสร็จเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่ออกแสดงต่อสาธารณะ”
ถวัลย์ ดัชนี “Landlord of the Earth” (พ.ศ. 2515)
“งานชิ้นใหญ่ซึ่งใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานและใช้ความละเอียดพิถีพิถันมาก เวลาวาดอาจารย์ถวัลย์จะนอนคว่ำเอาอกหนุนหมอนไว้แล้วใช้ปากกาค่อย ๆ ฝน ให้มีน้ำหนักอ่อนแก่จนเกิดเป็นภาพคนที่มีหัวเป็นสัตว์ เป็นงานซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีมาก ทั้งที่เวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว”
นที อุตฤทธิ์ “Untitled” (พ.ศ. 2536)
“ภาพจิตรกรรมแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์รูปนก เป็นงานในยุคเริ่มต้นของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก คนมักจะคุ้นกับงานสมจริง (Realism) ของนทีมากกว่า ชิ้นนี้จึงถือว่าแปลก ศิลปินคนอื่นมักจะเริ่มต้นจากงานสมจริง ก่อนจะลดทอนจนกลายเป็นนามธรรม (Abstract)หรือเป็นเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์แต่งานของนทีเริ่มต้นจากเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ก่อน แล้วค่อยเป็นเรียลิสม์ขึ้นเรื่อย ๆ งานของนที แม้จะเป็นสติลล์ไลฟ์รูปสิ่งของต่าง ๆ วางอยู่บนโต๊ะ แต่ก็จะมีคอนเสปท์ มีความหมาย มีประเด็นที่อยากจะเล่าและสื่อถึงบางอย่าง ซึ่งทำให้งานของเขาน่าสนใจ”
ประเทือง เอมเจริญ“ฟ่อนฟางดำ” (พ.ศ. 2517)
“ผลงานยุคเริ่มแรกของอาจารย์ประเทือง ได้แรงบันดาลใจจากชนบทและธรรมชาติ เป็นงานขนาดใหญ่ยุคใกล้เคียงกับงานชุด “จักรวาล” ที่เพิ่งประมูลไปที่ฮ่องกงในราคา 27 ล้าน”
มอลลี่ “The Waiting – Pink Version, Ed.2/5” (พ.ศ. 2565)
“Crybaby ของ มอลลี่ ประสบความสำเร็จอย่างสูงและขายหมดอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้พิเศษคือ Crybaby สีชมพู เจ้าของนำออกประมูลเพื่อนำเงินรายได้ทั้งหมดบริจาคให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายและทาง The Art Auction Center ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้ประมูลยังสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า”
มิสเตอร์ครีม “Mushkin” (พ.ศ. 2563)
“ผลงานต้นแบบของ มัชกิ้น ไดโนเสาร์กินผัก ที่สร้างขึ้นมาเพียงชิ้นเดียวแล้วนำออกมาแสดงในนิทรรศการครั้งแรกของศิลปิน หลังจากนั้นมัชกิ้นก็ถูกพัฒนาเป็นคาแรคเตอร์ที่มีเอกลักษณ์ สำหรับมิสเตอร์ครีมเป็นศิลปินที่กำลังมาแรงซึ่งมีโอกาสทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับนานาชาติมากมาย”
มือบอญ“Freedom of Speech”(พ.ศ. 2564)
“ศิลปินสตรีทอาร์ตของไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ งานชิ้นนี้เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นส่วนตัว ไม่เคยนำออกแสดง เป็นงานที่เกิดจากความรู้สึกอึดอัดทางการเมือง มือบอญวาดภาพตนเองโดนปิดหูปิดตาปิดจมูกปิดปากแล้วมีนกอยู่บนหัว สื่อถึงความรู้สึกกดดันภายใน หน้าที่ของศิลปินนอกจากสร้างสรรค์งานเพื่อให้เกิดความสวยงามเกิดสุนทรีย์แล้วยังเป็นกระบอกเสียงสะท้อนแนวคิดต่าง ๆ ทางสังคม ซึ่งศิลปินสามารถแสดงออกและใช้งานของเขาสื่อไปหาผู้ชมได้”
กิตติ นารอด“Crowd in Deep Water”(พ.ศ. 2559)
“กิตติ นารอดเป็นศิลปินไทยที่มาแรงได้รับความนิยมระดับนานาชาติ เขาภาพวาดคนตัวยืด แขนขายาว จำนวนมากอยู่ในรูปเดียวกัน ใช้คู่สีตรงข้าม ฉูดฉาด เป็นงานที่ใช้ความละเอียดและเวลาในการสร้างสรรค์มาก”
วันดา ใจมา“ปากปีจอ” พ.ศ. 2561
“ภาพวาดจากช่วงเริ่มต้นทำงาน ก่อนจะพัฒนาเป็น “ปากหมา” งานชุดที่มีชื่อเสียงของ วันดา ใจมา ศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาโดดเด่น”
Saya Thaung “Family Portrait” (ปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20)
“ศิลปินเมียนมาร์ สะหย่า ตองอาจเทียบได้กับขรัวอินโข่งของไทย เดิมเป็นช่างวาดรูปให้กับราชสำนัก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงกลายมาเป็นศิลปินอิสระ นับเป็นชาวเมียนมาร์คนแรก ๆ ที่วาดภาพแบบมีแสง ความลึก มีเปอร์สเปคทีฟเหมือนตะวันตก ครั้งนี้ยังมีงานของศิลปินอาเซียนที่มีชื่อเสียง เช่น งานของชาวเมียนมาร์อีกคนคือ อู ลูนจาเว (U LunGywe) เขาเป็นศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียงและยังมีชีวิตอยู่ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยสะท้อนชีวิตประจำวันชาวเมียนมาร์
นอกจากนี้ยังมีงานของ ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ ชาวอินโดนีเซียซึ่งเคยมาเป็นศิลปินในราชสำนักของไทย เขานับเป็นศิลปินวาดภาพพอร์เทรตที่ดังที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีงานจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอนนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งน่าจะมีมูลค่าสูงมากขึ้นในอนาคต”
ผลงานที่โดดเด่นอื่น ๆ ยังรวมถึง “งาน ของ อเล็กซ์เฟซ กับภาพคาแรคเตอร์ มาร์ดี เด็กผู้หญิงสามตาที่มีหูเหมือนกระต่าย เป็นชิ้นที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการที่ประเทศอิตาลี งานของอาจารย์ช่วง มูลพินิจวาดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์หนังเรื่องไกรทอง ในปี พ.ศ. 2523 รวมไปถึงภาพสเก็ตช์ผู้หญิงงามในอุดมคติของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต งานชิ้นพิเศษที่วาดขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่านย่าม่าน” กระซิบบอกรัก จังหวัดน่านของอาจารย์ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ หรือ แวนโก๊ะเมืองไทย งานของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ชิ้นที่แปลกกว่างานอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นงานมีสีสันหลากหลาย แต่เป็นงานแนวเซอร์เรียลิสม์ สีโมโนโทน ภาพของดอกไม้ดอกใหญ่ ซึ่งถ้าลองดูใกล้ ๆ จะเห็นมีรูปคนค่อย ๆ ผุดออกมา
นอกจากนี้ยังมีงานกาลิเลโอคินี ศิลปินอิตาลีซึ่งถูกเชิญมาวาดภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 5แล้วก็มีเหรียญผลงานออกแบบของอาจารย์ศิลป พีระศรี ก่อนที่จะเดินทางมาเมืองไทย แล้วยังมีภาพพิมพ์ในปี พ.ศ.2311โดยศิลปินชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นภาพแผนที่อยุธยา พร้อมภาพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เอกอัครราชทูตที่ถูกส่งไปฝรั่งเศส”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 233 7939 และ 065 097 9909