Smart Farming ผลักดันศักยภาพเกษตรแบบยั่งยืน

โครงการ Smart Farming ภายใต้คอนเซ็ปต์ “การส่งเสริมการปลูกข้าวแบบปลอดภัย คือ ความใส่ใจจากคาร์กิลล์” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 4 ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนและผลักดันศักยภาพของอุตสาหกรรมการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง

ปีนี้ คาร์กิลล์ ร่วมมือกับฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแก่ชาวนาไทยในจังหวัดนครราชสีมาและสระบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการให้ผลผลิต และสามารถต้านทานต่อโรคและศัตรูพืช พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ควบคู่กับวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตพืชผลทางการเกษตรให้มีผลผลิตที่ปลอดภัย โดยมีการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และแร่ธาตุให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด กล่าวว่า “ในปีนี้ คาร์กิลล์ ขยายการสนับสนุนโครงการสู่พื้นที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมอย่างน้อย 6,200 ไร่ ผ่านความร่วมมือกับฟาร์มมหาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาลัยบูรพา มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีและเหมาะสมต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ให้แก่เกษตรกร รวมถึงองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตในการผลิตข้าวไทย”

ศาสตราจารย์ ดร. หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “ฟาร์มมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับวิถีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมให้ควบคู่กันไป เกษตรกร/ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมโดยอาจารย์ นักวิจัย ที่มีความรู้ด้านการปลูกข้าวโดยตรงและนำเครื่องมือสมัยใหม่มาฝึกอบรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจพื้นที่เกษตรก่อนทำหรือหลังทำ การหว่านเมล็ด การพ่นสารอาหารพืช ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของเรา คือ นำความรู้ด้านเทคโนโลยี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องลงไปสู่ชุมชนได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

ดร. สิริเชษฐ์ รัตนะชิตธวัช คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาลัยบูรพา (วิทยาเขตสระแก้ว) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปี มหาวิทยาลัยบูรพานำหลักวิชาการด้านเกษตรมาเชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน พร้อมพัฒนาเกษตรกรในระยะยาวได้และให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนหรือสังคมในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชน หรือสังคม”

ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่ การปรับปรุงการจัดการดินและน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,200 ไร่ ให้มีความสมบูรณ์, การเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น 20-30% จากเดิมผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 550 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 800 กิโลกรัมต่อไร่, การช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ พร้อมส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรและครอบครัว มากกว่า 1,200 คน, การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในมูลค่ากว่า 24 ล้านบาท โดยเปรียบเทียบจากมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรก่อนและภายหลังการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *